นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติเห็นชอบให้มีการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ร้านเสริมสวย นวดและสปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ และสามารถเล่นดนตรีในร้านอาหารได้ตามปกติ รวมทั้งลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ถือเป็นข่าวดี และเป็นการส่งสัญญานสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนที่เหลือของปี รวมทั้งสะท้อนความสามารถของระบบสาธารณสุขที่พร้อมจะรับมือกับการแพร่ระบาด
"เกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา หลายธุรกิจได้รับการผ่อนคลาย และเตรียมตัวกลับมาเปิดดำเนินการ ส่วนภาคประชาชนก็เริ่มมีความมั่นใจในการกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงในหลายจังหวัด ประกอบกับสถานพักคอย และโรงพยาบาลสนามหลายแห่งเริ่มมีผู้ป่วยลดลงในระดับที่ควบคุมสถานการณ์ไม่ให้หนักได้ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ศบค. พิจารณาผ่อนคลายกิจการ และมาตรการต่างๆ มากขึ้น" นายสนั่น กล่าว
ทั้งนี้ หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่า การจับจ่ายใช้สอยทางเศรษฐกิจในเดือนต.ค.นี้ น่าจะเพิ่มเป็น 10,000-12,000 ล้านบาทต่อวัน และมองว่าการผ่อนคลายในเดือนต.ค. จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ให้กลับมาเป็นบวกได้ นอกจากนี้ในหลายพื้นที่ทำงานกันแบบภาครัฐร่วมเอกชน วางแผนเปิดเมืองร่วมกัน จึงอยากให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า แนวทางหรือมาตรการต่างๆ ที่จะออกมานั้น ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบจากทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นลำดับแรก และพยายามผ่อนคลายให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจกรรมต่อไปได้
ในขณะที่ปริมาณวัคซีนที่ยังทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และมีการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ รวมทั้งการปลดล็อค Antigen Test Kit (ATK) ให้มีราคาที่ถูกลง จะทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนในกลุ่มต่างๆ เกิดความมั่นใจมากขึ้น และพร้อมจะปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด
นอกจากนี้ แผนการเปิดเมืองที่จะทยอยเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้นั้น หอการค้าไทยได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการวางมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางที่ผ่านเกณฑ์มาตรการต่าง ๆ ให้เข้า ออกประเทศไทยได้ โดยมีการจำกัดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นโดยเร็ว ซึ่งเชื่อว่าในไตรมาสสุดท้าย จะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการกลับมาได้
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายจังหวัดในขณะนี้เป็นอย่างมาก เพราะอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ โดยประเมินว่า อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้ติดต่อไปยังหอการค้าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเร่งประสานงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อร่วมหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนต่อไป