(เพิ่มเติม) เวิลด์แบงก์ หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือโต 1% รับโควิดกระทบ ก่อนฟื้นโต 3.6%ปี 65

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 28, 2021 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 64 เหลือ 1% จากเดิมเมื่อเดือน ก.ค.64 ที่คาดการณ์ไว้ 2.2% เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนในปี 65 คาดการณ์จีดีพีจะขยายตัวที่ 3.6% โดยคาดว่าระบบเศรษฐกิจของไทยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวราว 3 ปี
"เราปรับลดจีดีพีปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1% เศรษฐกิจจะใช้เวลาในการฟื้นตัวมากขึ้น หลังเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ช้าลง" นายเกียรติพงศ์ กล่าว

สาเหตุที่ระบบเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวช้าลงอีก เนื่องจากการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า โดยคาดว่าการฉีดวัคซีนจะครอบคลุมประชากร 70% ได้ราวกลางปี 65 ซึ่งมีผลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้สถานการณ์การท่องเที่ยวในปีนี้จะดีกว่าปีก่อนหลังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้วแต่ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวนราว 44 ล้านคน โดยหลังจากฉีดวัคซีนได้ครบตามเป้า 70% แล้วคาดว่าในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวน 1.7 ล้านคน

โดยกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากการส่งออก หลังการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออก เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้นแต่มีข้อจำกัดในการเดินทาง แต่การส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องปัญหาคอขวดของระบบห่วงโซ่การผลิตและระบบโลจิสติกส์

ขณะที่การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนจะเริ่มทยอยฟื้นตัว ดังนั้นการใช้มาตรการด้านการคลังจะมีส่วนช่วยหนุนภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 70% ของจีดีพี ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีพื้นที่ด้านการคลังเพียงพอที่จะประคับประคองระบบเศรษฐกิจ โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะน่าจะขยับจาก 43% ในปีนี้ไปอยู่ที่ 62% ในปีหน้า

"การขยายเพดานหนี้เป็นสิ่งที่ดี เพิ่มโอกาสในการประคับประคองเศรษฐกิจในระยะสั้น เพิ่มการลงทุนในระยะกลาง ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มไปกว่า 60% เป็นการชั่วคราว หลังฟื้นเศรษฐกิจได้แล้วก็จะลงมาต่ำกว่า 60%" นายเกียรติพงศ์ กล่าว

สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ในประเทศจึงมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งหลังจากมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะแล้วจะต้องดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพด้านการคลังในระยะกลาง กล่าวคือ การใช้เงินกู้ต้องมีความโปร่งใส จะมีการลงทุนอย่างไร จะมีมาตรการเยียวยาอย่างไร ซึ่งต้องมีการใช้เงินกู้ให้ตรงจุด เช่น การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ