ไทยผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนบนเวทีอังค์ถัด เน้นหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน-ลดความเหลื่อมล้ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 28, 2021 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างปฏิญญาของกลุ่ม 77 และจีน (Ministerial Declaration of the Group of 77 and China to UNCTAD XV: From inequality and vulnerability to prosperity for all) และร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม UNCTAD XV (The Bridgetown Covenant: From inequality and vulnerability to prosperity for all) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่งจะมีการรับรองร่างปฏิญญาของกลุ่ม 77 และจีน ในวันที่ 1 ต.ค.64 ผ่านระบบการประชุมทางไกล และจะรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม UNCTAD XV ระหว่างวันที่ 5-7 ต.ค.64 ในรูปแบบผสมผสานทั้งผ่านระบบการประชุมทางไกล และการพบปะจริง

โดยการประชุม UNCTAD XV ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "From inequality and vulnerability to prosperity for all" มุ่งให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและความเปราะบาง ด้วยการสร้างหลักประกันว่าระบบการค้าก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน และวาระการพัฒนาจะยังมีความสาคัญในเวทีโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาแนวทางการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และจัดการความท้าทายที่ประเทศกำลังพัฒนาทางด้านการค้า การเงิน การลงทุน และเทคโนโลยีในการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการผลักดันการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านเวที UNCTAD โดยเฉพาะการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยใช้แนวทางการพัฒนาที่เป็นของตนเอง หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งสอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติจากผลกระทบของโรคโควิด-19 และการหาแนวทางการฟื้นตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ร่างปฏิญญาของกลุ่ม 77 และจีน มีประเด็นสำคัญ อาทิ (1) ส่งเสริมให้เกิดการจัดทำเป้าหมายใหม่ที่จะสืบสานวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (2) เรียกร้องให้มีระบบการค้าพหุภาคีที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการรับมือกับความท้าทายจากโลกาภิวัตน์ (3) ลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา (4) สนับสนุนการขยายและการเสริมสร้างผลิตภาพของประเทศกำลังพัฒนา (5) เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็นด้านภาษีมากขึ้น (6) ออกมาตรการเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

2.ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม UNCTAD XV มีประเด็นสำคัญ อาทิ (1) ความท้าทายระดับโลก เช่น ความเหลื่อมล้ำและความเปราะบาง วิกฤตสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและภาระหนี้สิน (2) การส่งเสริมความเข้มแข็ง (resilience) ความทั่วถึง และความยั่งยืน ด้วยการสร้างความหลากหลาย เช่น การลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกาลังพัฒนา การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน (3) การพัฒนาบทบาทของ UNCTAD ในการจัดทำบทวิเคราะห์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการทำงานด้านวิจัยเชิงนโยบาย ด้านความร่วมมือทางวิชาการ การพลิกฟื้นกลไกระหว่างรัฐบาล การฟื้นฟูกลไกระหว่างรัฐ (intergovernmental machinery) และการจัดทำแผนงานของ UNCTAD


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ