นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานเสวนา "FTA Thai - EU" ก้าวเดินต่อไปอย่างไร ภายใต้ผลประโยชน์ประเทศ" โดยระบุว่า การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากประเทศไทยได้เริ่มเจรจากับ EU มาแล้วถึง 4 รอบ ตั้งแต่ปี 57 แต่เนื่องจากในปีนั้นประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงทำให้การเจรจาดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงไป และภายหลังจากที่ไทยกลับมามีการเลือกตั้งในปี 61 และได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงทำให้ EU พร้อมที่จะกลับมาเริ่มต้นกระบวนการเจรจา FTA กับไทยใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ การเจรจากับ EU ที่ทิ้งช่วงไปนาน 7-8 ปี ทำให้มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มากขึ้น โดยเฉพาะกระแสโลกยุคดิจิทัล และการค้าผ่านออนไลน์ ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล ซึ่งทำให้ช่องว่างระหว่างไทยกับ EU ในการพัฒนาด้านต่างๆ แคบลง เป็นพัฒนาการด้านศักยภาพของไทยที่ดีขึ้น
นางอรมน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมจัดทำกรอบเจรจา FTA ไทย-EU ซึ่งในระหว่างนี้ กรอบการเจรจาดังกล่าวมีความคืบหน้าไปพอสมควรสำหรับฝ่ายไทย อย่างไรก็ดี จะต้องมีการหารือเพื่อจัดทำกรอบการเจรจาร่วมกับ EU ก่อน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศจะต้องมีความคาดหวังกับข้อตกลงในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากนัก จึงจะทำให้กรอบการเจรจาเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี คาดว่าจะหารือกันแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเริ่มเปิดการเจรจากับ EU ได้ต่อไป
ด้านนายปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การค้าในยุคหลังสถานการณ์โควิด-19 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางค้าที่มิใช่ภาษีที่กลุ่มประเทศใหญ่ หรือประเทศใหญ่ๆ ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจจะนำมาใช้มากขึ้น เนื่องจากส่วนหนึ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายประเทศเผชิญ ได้สร้างผลกระทบจนทำให้หนี้สาธารณะของหลายประเทศเพิ่มขึ้นมาก และต้องหาแนวทางในการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ ดังนั้น การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่มิใช่ภาษี จึงเป็นอีกตัวหนึ่งที่หลายประเทศจะนำออกมาใช้กันกว้างขวางขึ้น
สหภาพยุโรป (EU) ถือเป็นกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ที่มีสมาชิก 27 ประเทศ และมักจะเป็นผู้มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานทางการค้าใหม่ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน ด้านสุขอนามัย เป็นต้น การที่ไทยจะเข้าร่วมทำ FTA ไทย-อียู จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ไทยมีแต้มต่อ และลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีของประเทศคู่ค้าได้
นายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) กล่าวว่า ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-EU นั้น จะพบว่า EU เป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย รองจากอาเซียน และจีน ในขณะที่ EU เอง นำเข้าสินค้าต่างๆ จากไทยเป็นอันดับ 4 รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น ส่วนในด้านการลงทุนนั้น EU มีการเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งธุรกิจการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และค้าส่ง-ค้าปลีก
ทั้งนี้ จากการศึกษาแบบจำลองของทางสถาบันฯ พบว่า หากไทยมีการทำข้อตกลง FTA ไทย-EU จะมีส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศเติบโตขึ้นได้ตั้งแต่ระดับ 2.4-6.9% แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระดับการเปิดเสรี โดยเฉพาะการเปิดเสรีในภาคบริการว่าจะเปิดกว้างมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาด้วยว่าธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการทำ FTA ไทย-EU น่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากนม เนื่องจากต้องยอมรับว่า EU มีศักยภาพสูง และมีความสามารถทางด้านการแข่งขันในสินค้ากลุ่มดังกล่าวมากกว่าไทย
นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนสนับสนุนเต็มที่ในการเจรจา FTA แต่ทั้งนี้ จะต้องเป็นการเจรจาที่ช่วยให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ และนำรายได้มาสู่ประเทศ สู่ supply chain ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบัน ภาคเอกชนก็มีการทำการค้าระหว่างประเทศกับ EU อยู่แล้ว และมีความเข้าใจต่อกฎระเบียบของ EU พอสมควร
พร้อมมองว่า จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ การที่จะช่วยทำให้ประเทศหลุดพ้นจากวิกฤติได้นั้น การเจรจาทางการค้าก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยทำรายได้ให้กับภาคการส่งออกมากขึ้น เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ดี ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA ไทย-EU ขึ้นด้วย เพื่อให้กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ เข้ามามีบทบาทช่วยเสริมการช่วยเหลือเยียวยาให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบได้มีพัฒนาการ หรือปรับแนวทางเพื่อประคองไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการทำ FTA ดังกล่าว
ด้านนายพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลของสถาบัน IFD ที่ชี้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นมจะได้รับผลกระทบมากสุดนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งที่ผ่านมา เกษตรกรในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปิด FTA ไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เนื่องจาก FTA ดังกล่าวทำให้สินค้าผลิตภัณฑ์นมที่ไทยนำเข้ามาจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์มีอัตราภาษีเหลือ 0% กระทบกับการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศที่ไม่สามารถสู้ราคากับสินค้านำเข้าได้ โรงงานแปรรูปสินค้าก็จะหันไปนำเข้าวัตถุดิบจาก EU มากขึ้น ลดการใช้วัตถุดิบในประเทศ ลดความต้องการซื้อน้ำนมดิบในประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงโคนมในประเทศที่มีอยู่กว่า 4-5 หมื่นคนที่จะมีรายได้ลดลง
"การที่ภาษีนำเข้าเหลือ 0% ทำให้สินค้านำเข้าของ EU ราคาลดลงอย่างฮวบฮาบ ซึ่งก็จริงอยู่ ที่ส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่โรงงานก็จะหันไปนำเข้าสินค้าจากอียูมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ลดความต้องการใช้สินค้าในประเทศลง...เรายังเรียนรู้กับ FTA ไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ไม่จบ ก็ต้องมาเจอกับ FTA ไทย-EU อีก" นายพฤฒิ กล่าว
พร้อมกับฝากไปถึงรัฐบาลถึงการบริหารกองทุน FTA ว่าควรจะทำให้การใช้เงินในกองทุนนำไปสู่โครงการดีๆ ที่เป็นประโยชน์และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด
ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า การทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์มักเป็นสินค้าอุตสาหกรรม, สินค้ากึ่งสำเร็จรูป สินค้าแปรรูป ในขณะที่เกษตรกรเป็นแค่หมากตัวหนึ่งในการต่อรองเท่านั้น ที่ผ่านมา เกษตรกรถือว่าได้รับข้อมูลหรือการเตรียมความพร้อมน้อยมากก่อนที่ไทยจะเข้าร่วมในข้อตกลง FTA ใดๆ
โดยเฉพาะที่ผ่านมา ในการทำ FTA ไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ทางสภาเกษตรกรฯ ได้รับข้อร้องเรียนอย่างมากจากกลุ่มสหกรณ์โคนม ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและอย่างมาก จากการที่ไทยเข้าร่วมใน FTA ดังกล่าว เนื่องจากทำให้ผลิตภัณฑ์จากนมของไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ผู้เลี้ยงโคนมไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และอ่อนแอเกินกว่าจะเข้าสู่ระบบการค้าภายใต้ FTA
ประธานสภาเกษตรกรฯ กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะมีการจัดตั้งกองทุน FTA ต่างๆ เพื่อเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิด FTA แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับพบว่ากลุ่มเกษตรกรเข้าถึงความช่วยเหลือจากกองทุน FTA น้อยมาก เกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายของภาครัฐ ในขณะที่เกษตรกรตัวเล็กตัวน้อยแทบไม่มีโอกาสเข้าถึง
"การเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มาก คือ ผลกระทบกับเกษตรกรรายย่อย มาตรการเยียวยาจะต้องรวดเร็ว ตรงเป้า เข้าถึงได้ เราไม่ได้อยากจะต่อต้าน เพราะรู้ว่าไทยต้องอยู่ในประชาคมโลก...แต่มันคือมายาคติที่ใหญ่มาก พอเกษตรกรได้ยินชื่อ FTA ก็ต่างหวาดกลัวกันหมด" นายประพัฒน์ กล่าว
พร้อมแนะว่า หากรัฐบาลไทยจะเดินหน้าในการทำข้อตกลง FTA ต่อไปนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มากคือ มาตรการเยียวยาช่วยเหลือให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการทำ FTA ซึ่งที่ผ่านมา การดำเนินงานของกองทุน FTA อาจจะมีขั้นตอนที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นระบบราชการ จึงอยากเสนอให้มีการตั้งองค์การอิสระขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารกองทุน FTA แต่อาจอยู่ภายใต้การกำกับของราชการก็ได้ ตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ตรงตามเป้าหมาย ไม่ใช่การปล่อยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ใช้ชีวิตไปตามยถากรรม โดยไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐ
นอกจากนี้ รัฐบาลควรให้ข้อมูลที่มากเพียงพอและเท่าเทียมแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าร่วม FTA เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้าน และพร้อมจะเดินหน้าปรับตัวรับกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น