ภาวะตลาดเงินบาท: บาทเปิด 33.89 อ่อนค่าในรอบ 4 ปี จับตามติ กนง. คาดกรอบ 33.80-34.00

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2021 08:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.89 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจาก เย็นวานนี้ที่ระดับ 33.75 บาท/ดอลลาร์

เช้านี้เงินบาทเปิดอ่อนค่า สอดคล้องกับทิศทางค่าเงินในภูมิภาค โดยเป็นไปตามการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ในตลาดโลก เนื่องจากบอลด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น และวานนี้นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประเมินว่าเงินเฟ้อ อาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

"วันนี้บาทเปิดอยู่ที่ 33.89 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี 2 เดือน โดยเงินบาทยังคงอ่อนค่า ตามทิศทางดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า" นักบริหารเงิน กล่าว

ปัจจัยที่ต้องติดตามวันนี้ คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับ เดิม แต่ทั้งนี้มติอาจไม่เป็นเอกฉันท์

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.80 - 34.00 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (28 ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.32366% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.30438%

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 111.56 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 111.33 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1680 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1676 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.672 บาท/ดอลลาร์
  • ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งนักลงทุนคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับเดิม แต่มติ
อาจไม่เป็นเอกฉันท์ รวมทั้งติดตามความเห็นจาก กนง.ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วย
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดกลาง ต.ค.64 เตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการรวมหนี้ (Debt
Consolidation) ระหว่างสถาบันการเงิน สำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันกับสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อ
บัตรเครดิต รวมกับสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น โดยเชื่อว่าการเพิ่มเกณฑ์ให้สามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงินได้นั้น จะช่วย
สร้างการแข่งขัน เพิ่มปริมาณธุรกิจ และเพิ่มแรงจูงใจในการดำเนินมาตรการให้กับสถาบันการเงินมากขึ้น
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดย ณ สิ้น
เดือน ก.ค. 64 มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการทั้งสิ้น 5.12 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 3.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ลูกหนี้
ของสถาบันการเงินและ non-banks 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 2.1 ล้านล้านบาท และลูกหนี้ SFIs 3.12 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.25 ล้านล้าน
บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมลูกหนี้ของสถาบันการเงินและ non-banks ที่เข้ามาตรการเร่งด่วนพักชำระหนี้ คิดเป็นมากกว่า 3 ล้านบัญชี
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ก.ย.)
โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ของสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งทะลุ 1.54% เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. โดยได้
แรงหนุนจากปัจจัยความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความวิตกเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ
(เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด
ถึง 1 ปี
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (28 ก.ย.) โดยบรรยากาศการซื้อขาย
ได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ
  • นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาว่า สหรัฐจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อ
พุ่งสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้ ขณะที่นางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะระดับ
เกือบ 4% ภายในสิ้นปีนี้
  • นักลงทุนจับตาการอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว และการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติ
อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวในวันที่ 21 ก.ย. เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐ ให้มีงบประมาณใช้จ่ายไปจนถึงวันที่
3 ธ.ค. และหลีกเลี่ยงไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้ต้องถูกปิดการดำเนินงาน นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรยังมีมติให้ยกเลิกเพดานหนี้ของสหรัฐไป
จนถึงสิ้นปี 2565
  • ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 109.3 ในเดือนก.ย.
ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ได้รับผลกระทบจากความกังวลที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโค
วิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
  • ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home

sales) เดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2564

(ประมาณการครั้งสุดท้าย), รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนส.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนส.

ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนก.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้

บริโภคเดือนก.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ