SCB เตือนคนไทยศึกษา 4 ประเด็นศก.เพื่อเตรียมตัวรับผลกระทบในปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 28, 2007 18:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายวิระไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) กล่าวในการสัมมนา"แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดเงินในปี 2551 ก้าวอย่างมั่นคงได้อย่างไร"เกี่ยวกับประเด็นใหม่ ๆ ที่คนไทยต้องเตรียมตัวรับในปีหน้า ซึ่งเป็นได้ทั้งโอกาสและภัยคุกคามของผู้ประกอบการ จึงต้องศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่าละเอียดลึกซึ้ง เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมืออย่างรอบคอบ
ประเด็นแรกที่จะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการ คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JAPAN-THAILAND ECONOMIC PARTNERSHIP AGREEMENT:JTEPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ย.50 มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการ และมีการให้โควต้าพิเศษสำหรับสินค้าของไทยบางรายการ เช่น แป้งมันสำปะหลังดัดแปลง กากน้ำตาล สัปปะรดสด เนื้อหมูและแฮมแปรรูป นอกจากนั้นยังทำให้อุตสาหกรรมของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทยได้รับความคุ้มครอง 5 ปี เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กบางชนิดและผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการในไทยต้องศึกษาไว้
ประเด็นที่ 2 ความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานภายในอาเซียนอย่างเสรี รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมการรวมกลุ่มกับประชาคมโลก ซึ่งถูกเร่งรัดให้จัดตั้งเร็วขึ้นในปี 2558 จากเดิมปี 2563 ซึ่งจะทำให้มีการทยอยลดภาษีสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกเหลือ 0% ตั้งแต่ปีนี้สำหรับประเทศสมาชิกเดิม และปี 55 สำหรับสมาชิกใหม่
ประเด็นต่อมาคือ การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายรองรับยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบก่อนการเลือกตั้ง และจะมีการจัดตั้งสถาบันฯ ได้ในปี 51 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 51
นายวิระไท กล่าวว่า จากประเด็นดังกล่าวการคุ้มครองเงินฝากจะทยอยลดลง ซึ่งผลกระทบจากการจัดตั้งดังกล่าวคือจะเป็นการลดภาษีของรัฐบาลและผู้เสียภาษีในการแบกรับปัญหาของสถาบันการเงิน ผู้ฝากและผู้กู้จำเป็นต้องเลือกสถาบันการเงินที่เหมาะสม มีการวางแผนการเงินเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาว ผู้ฝากเงินควรเลือกผลตอบแทนจากการฝากเงินที่คุ้มกับความเสี่ยง ส่วนผู้กู้เงินต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินที่จ่ายให้ผู้ฝาก ซึ่งจะเป็นต้นทุนในการกู้เงิน
อย่างไรก็ตาม ในปีแรก ๆ คงยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก แต่จะมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีตามการทยอยปรับลดวงเงินที่สถาบันจะให้ความคุ้มครองกับเงินฝากของประชาชน และผลที่เกิดขึ้นคือจะเห็นความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยฝากและกู้เพิ่มขึ้น
ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ การยกร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดจากความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และมีผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดต้นปี 52 ซึ่งจะคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จิตใจ และทรัพย์สิน อันเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมีสิทธิฟ้องร้องตามกฎหมาย
ประเด็นดังกล่าวจะเกิดความเสี่ยงกับผู้ประกอบการและผู้ผลิต คือ ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตอาจถูกฟ้องร้องได้ตลอดเวลา แม้ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพตามที่กำหมายกำหนด กฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตรับผิดชอบร่วมกัน ผลดีคือผู้บริโภคจะมีภาระในการฟ้องร้องน้อยลง และได้รับการคุ้มครองสูงขึ้น และสามารถให้อำนาจกับหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคฟ้องร้องแทนได แต่ก็อาจจะมีการฟ้องร้องเป็นจำนวนมาก และจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการต่อสู้คดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ