นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน ส.ค.64 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคชะลอตัวลงในเกือบทุกภูมิภาค จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรดี เศรษฐกิจภาคใต้ ภาคตะวันออก เศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑล และภาคตะวันตก ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้า
- ภาคใต้
เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวสูงขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -18.8% และ -35.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลชะลอตัวลง -2.7% และ -22.7% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัว 9.5% และ 5.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อเทียบเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 290.9% และ 10.3% ตามลำดับ ด้วยจำนวนเงินทุน 612.41 ล้านบาท จากโรงงานผลิตน้ำแข็งซองในจังหวัดสุราษฏร์ธานี และโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบจากปาล์มทะลาย CPO เกรด A ในจังหวัดชุมพร เป็นสำคัญ ในขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลงทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลชะลอตัวลงที่ -19.3% และ -11.3% ตามลำดับ สำหรับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 6.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลง -3.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 36.2 และ 75.7 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 37.4 และ 79.3 ตามลำดับ
- ภาคตะวันออก
เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวสูงขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -17.2% และ -29.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -15.1% และ -32.4% ตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 35.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 99.2% และ 68.4% ตามลำดับ ด้วยจำนวนเงินทุน 5,686.24 ล้านบาท จากโรงงานทำหม้อเก็บพลังงานไฟฟ้าชนิดแห้ง และรวมถึงชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในจังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงงานผลิตกระดาษที่ใช้แล้วมาคัดแยกเศษพลาสติกและโลหะออกเพื่อนำไปผ่านกระบวนการบดและปั่นแห้งเป็นกระดาษอัดก้อนที่นำกลับคืนมาใช้ได้อีกในจังหวัดปราจีนบุรี เป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ -22.4% และ -15.6% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลชะลอตัวลง -3.1% และ -24.0% ตามลำดับ ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42.4 และ 100 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 43.8 และ 105.6 ตามลำดับ
- กทม.และปริมณฑล
เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวสูงขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง
โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ชะลอตัวลง -2.7% และ -22.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 54.9% และ 18.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.1% แต่ชะลอตัวลง -4.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 11.4% และ 311.1% ตามลำดับ ด้วยจำนวนเงินทุน 1,889.65 ล้านบาท จากโรงงานผลิตและแบ่งบรรจุน้ำมันพืชทุกชนิดและผลิตน้ำมันไบโอดีเซลในจังหวัดสมุทรสาคร และโรงงานทำชิ้นส่วนพิเศษ หรืออุปกรณ์สำหรับรถยนต์หรือรถพ่วงในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน -1.2% แต่ขยายตัว 35.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 37.9 และ 75.0 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 39.3 และ 77.8 ตามลำดับ
- ภาคตะวันตก
เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวสูงขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -26.6% และ -25.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -14.5% และ -24.0% ตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัวลง -5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทรงตัวที่ 0.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 13.8% และ 462.8% ตามลำดับ ด้วยจำนวนเงินทุน 345.89 ล้านบาท จากโรงงานผสมปูนซีเมนต์สำเร็จรูปในจังหวัดราชบุรี และโรงงานผลิตอะลูมิเนียมแท่ง กำลังการผลิต 8 ตันต่อวัน ในจังหวัดเพชรบุรี เป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ -19.1% และ -12.6% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลชะลอตัวลง -8.1% และ -14.6% ตามลำดับ ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.5 และ 75.0 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 39.9 และ 77.8 ตามลำดับ
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เศรษฐกิจชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภค สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ทรงตัว 0.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 0.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัวลงที่ -16.5% -3.1% และ -29.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัวลง -11.5% -7.8% และ -62.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลตามลำดับ ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.0 และ 68.8 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 45.2 และ 69.5 ตามลำดับ
- ภาคเหนือ
เศรษฐกิจชะลอตัวลง อย่างไรก็ดีจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -4.2% และ -29.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและชะลอตัวลง -2.7% และ -29.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ อย่างไรก็ดี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -6.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 5.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัวลงที่ -9.5% -9.5% และ -18.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัวลง -5.7% -18.2% และ -18.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลตามลำดับ ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42.7 และ 54.8 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 43.9 และ 57.5 ตามลำดับ
- ภาคกลาง
เศรษฐกิจชะลอตัวลง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง
โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -8.9% -26.0% และ -40.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัวลง -2.7% -32.3% และ -38.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัวลง -24.4% -15.5% และ -81.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัวลง -26.1% -10.4% และ -60.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.5 และ 75.0 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 39.9 และ 77.8 ตามลำดับ