นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างและสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จังหวัดระยอง กับบริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด และการลงนามในสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง ระหว่าง กนอ. กับกิจการค้าร่วมบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ดี.เอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด, บริษัท พี แอนด์ ซี แมเนจเมนท์ จำกัด และบริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด เพื่อเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินงานหลังจากลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ
สำหรับการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 36 เดือน และจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567 เพื่อดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ทั้งนี้ ประโยชน์ทางตรงที่จะเกิดกับเศรษฐกิจจากการลงทุนในสมาร์ท ปาร์ค คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างมูลค่าของ GDP ในประเทศต่อปีอยู่ที่ 53,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานในระยะก่อสร้างประมาณ 200 คน ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนประมาณ 24 ล้านบาทต่อปี ส่วนในระยะดำเนินการคาดว่าจะมีการจ้างงานประมาณ 7,500 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อปี
โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค สอดคล้องกับการทำงานของ กนอ. ที่มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรมในการจัดหาและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้มีการต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ
โดย กนอ.ได้พิจารณาการส่งเสริมและต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งที่ตั้งโครงการ แหล่งวัตถุดิบ และตามแนวความคิดการพัฒนาโครงการที่มีความเป็นมิตรต่อชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
"นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เป็นส่วนหนึ่งสนับสนุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีความคาดหวังว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ เกิดการพัฒนาเมือง และชุมชน การพัฒนาสาธารณูปโภคหลัก เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุน และปรับฐานการผลิตของประเทศไทยให้เข้าสู่การผลิตในอนาคต" นายวีริศ กล่าว