ศบศ. เห็นชอบโครงการรักษาระดับจ้างงาน SME-ตั้งกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 30, 2021 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศบศ. เห็นชอบโครงการรักษาระดับจ้างงาน SME-ตั้งกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุม ศบศ. มีมติเห็นชอบ

1. เห็นชอบหลักการโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มธุรกิจ

2. เห็นชอบหลักการแนวทางการขับเคลื่อนการเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐ โดยการขยายผลและพลิกโฉมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก รวมทั้งแนวทางการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อใช้ในการพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย และการประกาศส่งเสริมท่องเที่ยว 2565 Amazing ยิ่งกว่าเดิม (Visit Thailand 2022 Now Even More Amazing Thailand Has It All)

นายธนกร กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการดำเนินการนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งนายจ้างและลูกจ้าง มาตรการการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูภาคธุรกิจ ผ่านโครงการสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ รวมไปถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว "Phuket Sandbox" เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้สามารถผลักเม็ดเงินเข้าสู่ระบบช่วยพยุงเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเน้นการรักษาการจ้างงานและมาตรการการจ้างงานใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน ทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม และยังไม่มีการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ รวมทั้งต้องการเห็นคนไทยมีงานทำ โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เพื่อรักษาระดับการจ้างงานให้ธุรกิจเอกชนด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ต้องดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง ตรงความต้องการของภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รัฐบาลก็ต้องหาทางสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วยรูปแบบและแนวทางใหม่ ๆ เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การท่องเที่ยวปลอดภัยในประเทศไทย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการพลิกโฉมประเทศไทยทุกมิติ ซึ่งหลายอย่างที่รัฐบาลดำเนินการวันนี้ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อาจจะไม่เห็นผลชัดเจนในทันที แต่จะส่งผลระยะยาวเพื่อให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ