(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดเงินบาท: เปิด 33.70 แข็งค่าจากวานนี้ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯฉุดดอลลาร์อ่อนค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 1, 2021 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.70 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจาก เย็นวานนี้ที่ระดับ 33.85 บาท/ดอลลาร์

เช้านี้บาทเปิดแข็งค่า สอดคล้องกับภูมิภาคที่เคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าเล็กน้อย จากการที่ดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไร ประกอบกับจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ดอลลาร์ย่อตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ปัจจัยที่ ต้องติดตามวันนี้ คือ ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.65-33.80 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (30 ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.30223% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.32793%

SPOT ล่าสุด อยู่ที่ระดับ 33.77250 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 111.28 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 111.92 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1570 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1600 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.897 บาท/ดอลลาร์
  • ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวันที่ 30 ก.ย.64 อ่อนค่าทำสถิติใหม่เคลื่อนไหวที่ 33.97 บาท
ต่อดอลลาร์ ซึ่งใกล้แตะ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าสุดรอบกว่า 4 ปีครั้งใหม่นับตั้งแต่เดือน ก.ค. ปี 60 เทียบระดับปิด
ตลาดวันก่อนหน้าที่ 33.86 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทเจอแรงขายตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
เพราะสัญญาณธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจขึ้นดอกเบี้ย
  • "บรุ๊คเคอร์" เดินหน้าลุยลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หวังต่อยอดธุรกิจเดิม เล็งศึกษาทำธุรกิจเหมืองขุดคริปโทเคอร์เรนซีหาก
ประสบความสำเร็จเล็งเป็นที่ปรึกษาเหมืองขุดฯ จากขณะนี้ มีหลายบริษัทสนใจลงทุน
  • พลังงาน ลั่น พร้อมใช้กองทุนน้ำมันเข้าดูแลหากราคาดีเซลทะลุ 30 บาท หลังประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้พลังงาน
ทั่วโลกเพิ่มขึ้น และโอเปกควบคุมการผลิต หวังไม่ให้กระทบต่อประชาชน
  • ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน เปิดเผยในเว็บไซต์ว่า ฝ่ายธุรกิจบริหารความ
มั่งคั่งของบริษัทได้ทำการชำระเงินจำนวน 10% ของตราสารหนี้ผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง (wealth management products) หรือ
WMPs ที่ครบกำหนดชำระเมื่อวานนี้
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตร
มาส 2/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 6.7% ในไตรมาส 2 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 6.5% และ
สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ระดับ 6.6% หลังจากที่ขยายตัว 6.3% ในไตรมาส 1
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 11,000 ราย สู่ระดับ 362,000 รายใน
สัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 335,000 ราย โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้วแตะ
ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าการจ้างงานในสหรัฐชะลอตัวลง
  • วุฒิสภาสหรัฐให้การอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 65-35 เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาล
กลางสหรัฐให้มีงบประมาณใช้จ่ายจนถึงวันที่ 3 ธ.ค. และหลีกเลี่ยงไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้ต้องถูกปิดการดำเนินงาน
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และรัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภา
ผู้แทนราษฎรในวันนี้ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และเน้นย้ำความสำคัญของการใช้นโยบายการเงินและการคลังในการ
กระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
  • ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (30 ก.ย.)
หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนเท
ขายทำกำไรหลังจากดอลลาร์แข็งค่าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 2% เมื่อคืนนี้ (30 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์
รวมทั้งแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลแรงงานที่ซบเซา อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตลอดทั้งเดือนก.ย. สัญญาทองคำร่วง
ลงรุนแรงถึง 3.4%
  • ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนส.ค., ดัชนีราคาการใช้
จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนส.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนก.ย.จากมาร์กิต, ดัชนี
ภาคการผลิตเดือนก.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ