หอการค้า คาดน้ำท่วมรอบนี้เสียหายกว่า 15,000 ลบ.กระทบ GDP ราว 0.1-0.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 1, 2021 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมปี 64 ที่มีพื้นที่ประสบน้ำท่วมทั้งหมด 31 จังหวัด คาดสร้างมูลค่าความเสียหาย 15,036.11 ล้านบาท โดยกว่า 7,000 ล้านบาทเป็นความเสียหายด้านเกษตร ทั้งนี้ส่งผลกระทบต่อจีดีพีทั้งปี ให้ลดลง 0.1-0.2% หรือในไตรมาส 4/64 จีดีพีจะลดลง 0.3-0.5%

จากการสำรวจจากหอการค้าจังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย 65.9% เป็นพื้นที่เพาะปลูก อีก 22% เป็นพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด และ 12.1% ได้รับผลกระทบทั้งสองพื้นที่

สำหรับผลกระทบจากน้ำท่วมพบว่า ผลกระทบที่ได้รับส่วนใหญ่ คือ บ้านและคมนาคมเสียหาย รองลงมาคือผลผลิตทางเกษตร และข้าวของเสียหาย ทั้งนี้จากการสอบถามถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ พบว่า 39.5% มีผลกระทบในระดับมาก

อย่างไรก็ดีพบว่า 83.38% ระบุว่าสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้มีความรุนแรง และสร้างความเสียหายน้อยกว่าน้ำท่วมในปี 54 รวมทั้งคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะลดลง และกลับสู่ภาวะปกติเฉลี่ย 9 วัน

ในส่วนของข้อเสนอแนะที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ ได้แก่

อันดับ 1 คือช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม เช่น การชดเชยผลผลิตทางการเกษตร หรือการสนับสนุนเงินทุนเพื่อนำมาซ่อมแซมกิจการที่ได้รับความเสียหาย

อันดับ 2 คือเงินชดเชยน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมาก

อันดับ 3 คือควรมีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม และควรประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยให้เร็วมากกว่านี้

นอกจากนี้ยังควรมีมาตรการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ เช่น ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เงื่อนไขในการกู้ง่าย รวมทั้งสร้างแหล่งกักเก็บน้ำและฝายชะลอน้ำ และส่งเสริมให้มีศูนย์บรรเทาช่วยเหลือภายในพื้นที่

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปีนี้ยังคงอัตราการขยายตัวของเศณษฐกิจไทยที่ 1% แต่ในปีหน้าหากอยากให้เศรษฐกิจไทยเติบโตถึง 6-8% รัฐต้องมีการออกมาตรการทั้งเปิดประเทศ และคลายล็อกดาวน์ให้นักท่องเที่ยวเข้ามา และดึงการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสร้างสมดุลทดแทนความเสียหายของประเทศ ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์น้ำท่วม รวมทั้งต้องประคองค่าเงินบาทให้อ่อนค่า เพื่อส่งเสริมภาคการส่งออก นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือต้องควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในขณะเดียวกันก็ควรออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจ้างงานให้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ