วิจัยกรุงศรี รายงานว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือน ส.ค.64 เกือบทุกภาคได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง ขณะที่การฟื้นตัวในระยะถัดไปยังมีความไม่แน่นอน โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน (-2.6% MoM sa) ตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อนเช่นกัน (-1.6%) โดยลดลงในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับดีขึ้นบ้างหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้าง
ส่วนมูลค่าการส่งออกเติบโตชะลอลงเหลือเลขหลักเดียว เนื่องจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้า และปัญหา supply disruption ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลงเหลือ 15,105 คน จากเดือนก่อน 18,056 คน นอกจากนี้ ผลของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง ประกอบกับปัญหา supply disruption ทำให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
เศรษฐกิจในไตรมาส 3/64 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง และมีความเสี่ยงที่จะติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 2/63 ขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ผ่านจุดสูงสุด การฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดลง รวมถึงมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ คาดว่าจะมีส่วนช่วยหนุนให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่การฟื้นตัวยังไม่สม่ำเสมอและมีความไม่แน่นอนอยู่
จากแบบจำลองการระบาดของวิจัยกรุงศรีประเมินภายใต้การฉีดวัคซีนเฉลี่ยวันละ 460,000 โดส และประสิทธิภาพของวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าอยู่ที่ 50% พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ โดยคาดว่าในช่วงสิ้นปีนี้จะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 2,500 รายต่อวัน และเสียชีวิตราว 40 รายต่อวัน ทั้งนี้ ประเมินภายใต้ข้อสมมติว่าทางการยังใช้มาตรการควบคุมการระบาดตลอดทั้งปี แม้จะมีการผ่อนคลายทีละขั้นตอนแต่ยังคงข้อจำกัดบางประการด้วยความระมัดระวัง นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงแก่เศรษฐกิจไทย
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 ก.ย.64 มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดย คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 64 เติบโตที่ 0.7% และปี 65 ปรับขึ้นเล็กน้อยเป็นขยายตัว 3.9% จาก 3.7% ในการประชุมเดือน ส.ค.โดยประเมินว่าพัฒนาการด้านวัคซีนที่ดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีนี้
ส่วนในปี 65 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
จากแบบจำลองของวิจัยกรุงศรีประเมินผลการลงมติล่าสุดของ กนง. ชี้ว่าในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 10 พ.ย.64 มีความน่าจะเป็นเพียง 23.8% ที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบาย และมีความน่าจะเป็นสูงถึง 73.9% ที่จะคงดอกเบี้ยนโยบาย
ดังนั้น วิจัยกรุงศรี คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในช่วงที่เหลือของปีนี้และตลอดปีหน้า เนื่องจาก 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเปราะบางท่ามกลางบาดแผลที่เกิดขึ้นจากวิกฤต COVID-19 อาทิ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นและตลาดแรงงานอ่อนแอ 2. ทางการมุ่งเน้นการใช้มาตรการทางการเงินที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และ 3. แม้อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอาจทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 65 แต่สำหรับไทยคาดว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของธปท.ที่ระดับต่ำเพียง 0.2% ในปี 64 และ 0.3% ในปี 65
นอกจากนี้ การประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยหรือ GDP จะยังไม่เพิ่มขึ้นเหนือระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 จนถึงปี 66 สะท้อนถึงความจำเป็นการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเพื่อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป