นักวิชาการแนะรัฐบาลใหม่เร่งฟื้นศก.เติบโตยั่งยืนท่ามกลางปัญหาปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 6, 2007 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายนิพนธ์ พัวพงศกร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอแนะ 6 มาตรการให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามารับหน้าที่ภายหลังการเลือกตั้งนำไปใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวใกล้เคียงกับในอดีตที่เคยเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-10% โดยมองว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมที่มีความอ่อนแอและไม่มีเสถียรภาพ อีกทั้งต้องเผชิญกับปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจรุมเร้าทั้งราคาน้ำมันและผลกระทบจากปัญหาซับไพร์ม
นายนิพนธ์ กล่าวในการสัมมนา"ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2551:ความหวังจากการเลือกตั้ง"ว่า ในปีนี้อัตราเติบโตของเศรษฐกิจไทยซึ่งอยู่ในระดับ 4.3% ถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 5.4% และแม้ว่าในปีหน้าหน่วยงานภาครัฐพยายามตั้งความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเป็น 4.8% แต่ก็สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่คาดว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงเหลือ 4.8%
นอกจากนั้น แนวโน้มในปีหน้ายังมองเห็นปัญหาที่จะมีเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะแตะ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และยังจะได้รับผลจากปัญหาซับไพร์มที่กระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลพวงทำให้เงินบาทแข็งค่า และทำให้การส่งออกชะลอตัวลง
นายนิพนธ์ กล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลชุดใหม่ควรจะดำเนินการ ได้แก่ การเร่งทบทวนแก้ไขกฎหมายที่ทำลายความมั่นใจของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว, ร่างพ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง, มาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้น, การบริหารจัดการความขัดแย้งในประเด็นใหญ่ ๆ และเปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และขยายสาขาห้างค้าปลีกขนาดใหญ่
เร่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งในอนาคต 30-40 ปีข้างหน้า ไทยจะขาดแคลนพลังงานอย่างรุนแรง และน้ำมันแพง ก๊าซธรรมชาติก็จะหมดไป พลังงานที่จะเข้ามาทดแทนได้คือ นิวเคลียร์และถ่านหิน รัฐบาลใหม่ควรจะเข้ามาตัดสินใจว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน และศึกษาอย่างลึกซึ้งเพื่อลดความเสี่ยง
รัฐบาลต้องยึดพันธสัญญาในการดำเนินนโยบายโดยเฉพาะกับเอกชน ที่ผ่านมามีตัวอย่างเช่น กรณียกเลิกสัญญากับคิงพาวเวอร์ ปัญหาการต่อสัญญาที่ดินระหว่างเซ็นทรัลและการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) , ลดการแทรกแซงตลาดเพื่อให้เข้าสู่นโยบายการค้าเสรีที่มีกติกาแข่งขันชัดเจน, ลดต้นทุนธุรกรรมในการประกอบธุรกิจที่เกิดจากกฎระเบียบภาครัฐ
รัฐบาลใหม่ควรให้บทบาทกับภาคประชาสังคม เพื่อบรรเทาความเสียหายจากนโยบายประชานิยม ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง รัฐบาลใหม่ควรเร่งลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และยกเลิกการใช้นโยบายประชานิยมซึ่งส่งผลเสียทำให้เศรษฐกิจในอนาคตอ่อนแอลง และประชาชนก็อ่อนแอลงด้วย อย่าให้ซ้ำรอยกับรัฐบาลชุดก่อน
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เสนอแนะรัฐบาลชุดใหม่กำหนดนโยบายด้านตลาดทุนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะพิสูจน์ได้จากช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤติ ตลาดทุนจะเป็นแหล่งระดมทุนให้กับเอกชนในช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ
พร้อมกันนั้น ยังควรหาวิธีดึงเงินลงทุนระยะยาวจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ เพราะลำพังสภาพคล่องในประเทศที่มีอยู่ราว 4-5 แสนล้านบาทคงจะไม่เพียงพอ
นายปกรณ์ ยังสนับสนุนการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้น เนื่องจากจะเป็นผลดีต่อตลาดตราสารหนี้ที่ปัจจุบันต่างชาติได้ลดการลงทุนเหลือเพียง 5 พันล้านบาท หรือประมาณ 1% มูลค่าซื้อขาย ลดลงจาก 20% ช่วงก่อนหน้านี้ หรือคิดเป็นเม็ดเงินเกือบ 5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่ไม่ควรเข้าไปสั่งการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพราะถือเป็นการแทรกแซงการทำงาน แต่ควรปล่อยให้ธปท.เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในจังหวะที่จะยกเลิกมาตรการดังกล่าว
"รัฐบาลใหม่ไม่ควรสั่งแบงก์ชาติ เพราะตลาดฯ จะมองว่าธนาคารกลางไม่มีอิสระถ้ารัฐบาลไปสั่งให้แบงก์ชาติเปลี่ยนแปลงการทำงานหรือนโยบายต่าง ๆ คิดว่าควรจะปล่อยให้แบงก์ชาติประกาศว่าควรจะยกเลิกเมื่อไหร่"นายปกรณ์ กล่าว
นายปกรณ์ ยังเห็นว่า ธปท.ไม่ควรปิดกั้นเงินทุนไหลเข้า แต่ควรพิจารณาเงินทุนไหลออก โดยเฉพาะ hot money ที่เข้ามาหาประโยชน์ในระยะสั้นแค่ 1-3 เดือน
ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ควรจะเข้ามาดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น แต่ก็ต้องดูแลเรื่องความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ และการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนอย่างมีคุณภาพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ