นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินนโยบายบริหารจัดการยางพาราสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกยางจำนวน 1.83 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 24.76 ล้านไร่ ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง มีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ขับเคลื่อนนโยบายพิจารณาแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการตลาดยางพารา โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ซื้อ และผู้ขาย ประกอบด้วย ตลาดกลางยางพารา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 8 แห่ง ตลาดซื้อขายออนไลน์ และตลาดยางพาราท้องถิ่น
รวมทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางด้านรายได้ ในภาวะช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และการลดผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ด้วยการขับเคลื่อนโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ตลอดจนการสร้างกลไกและกลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการรักษาเสถียรภาพราคา และเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายตลาดเชิงรุก โดยการให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ทูตเกษตรประจำอยู่ต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) ร่วมกับทูตพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ได้ผนึกกำลังกันส่งเสริมการตลาดยางพาราในประเทศคู่ค้าสำคัญๆ พร้อมกับติดตามและรายงานข้อมูลสถานการณ์การนำเข้าและส่งออก สินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย และสภาวะแวดล้อมด้านการค้าการแข่งขัน รวมทั้งการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะโอกาสทางการค้าและการลงทุน
"ถือได้ว่า เป็นการปรับมิติของกลยุทธ์การตลาดยางพารา โดยขับเคลื่อนร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย เป็นกลไกขับเคลื่อนพัฒนาตลาดยางพาราในต่างประเทศ ทั้งในตลาดเก่า และการเปิดตลาดใหม่ โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาด (Market Share) และขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิด" นายอลงกรณ์ ระบุ
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เร่งดำเนินการจัดตั้ง "ตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริงของยางพารา" โดย กยท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมกันนั้นได้เร่งส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยส่งเสริมการลงทุนโรงงานผลิตถุงมือยาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ในยุค New Normal จากผลกระทบของโควิด-19 รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาการผลิตการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพาราโดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในงานด้านวิจัยและพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เน้นเทคโนโลยี Made in Thailand พร้อมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยางพารา เช่น "โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม" และโครงการเกษตรแม่นยำ 2 ล้านไร่สู่ธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรยุคใหม่ (Big Brothers)
รวมถึงข้อริเริ่มใหม่ๆ เช่นโครงการ Rubber Valley ซึ่งเป็นโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช (suitability and development of the rubber industry in Nakhon Si Thammarat Province) ตามนโยบายของ รมว.เกษตรฯ เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor) ของรัฐบาลสู่การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ครอบคลุมทั้งกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราทั้งระบบ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 4.4 ล้านตัน หรือ 38.2% รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน มาเลเซีย และอินเดีย โดยภูมิภาคเอเซียผลิตมากที่สุดในโลก เป็นแหล่งผลิตยางพารา 93% ของผลผลิตยางพาราทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศกลุ่ม CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam)
สำหรับการพัฒนายางพาราไทย และการสร้างเสถียรภาพราคายางเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้วางกรอบเป็นแนวทางและกลยุทธ์ด้วยมุมมองและกลไกใหม่ ๆ เพื่อยกระดับอัพเกรดจากฐานศักยภาพเดิม มี 6 แนวทางการพัฒนาน้ำยางพาราสู่ศักยภาพใหม่ ดังนี้ 1. การพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์ 2. การพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 3. การพัฒนากยท. สู่ Global Player 4. การพัฒนากลไกการค้า (Fair Trade) และเกษตรพันธสัญญาเพื่อเสถียรภาพราคาที่เป็นธรรม 5. การส่งเสริมอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ 6. การสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์CLMV AEC RCEP
พร้อมกับการวางระบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ด้วย 7 กลยุทธ์สู่ศักยภาพใหม่ยางพาราไทยได้แก่ 1.การยกระดับมาตรฐานGAP FSC GMP 2.การประกันรายได้ชาวสวนยาง การนำระบบการประมูลออนไลน์และตลาดกลางซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริงมาเป็นกลไกใหม่ๆ 3.การยกระดับด้วย AIC และ กยท.ด้วยการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่การผลิตที่ดีมีมาตรฐานมี Productivity สูงและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง 4. กยท.และบริษัทของไทย เช่น ศรีตรัง ต้องยกระดับอัพเกรดองค์กรและการบริหารจัดการทะยานสู่ Global Player 5.การพัฒนาวิสาหกิจยางพาราสู่SMEเกษตร 6.ส่งเสริมเชิงรุกอุตสาหกรรมน้ำยางข้นทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสถาบันเกษตรกร เช่น โครงการ Rubber Valley Rubber City SEC EEC และ 7.สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง 4 แกนหลัก ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกรและภาควิชาการ (ไม่ใช่ภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้นเหมือนในอดีต) แบบทวิภาคีและพหุภาคี แบบคู่ค้าและคู่ขา ไม่ใช่คู่แข่ง โมเดล Win-Win
"เรากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตอบสนองตลาดยุคโควิดแทนการส่งออกน้ำยางข้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะชาวสวนยาง 1.83 ล้านราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง บนฐานการเป็นประเทศผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก" นายอลงกรณ์ กล่าว