(เพิ่มเติม) กกร.ขยับกรอบ GDP ปีนี้เป็น 0.0-1.0% จาก -0.5 ถึง 1% รับมาตรการกระตุ้นศก.ภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 11, 2021 14:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม ภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ 0.0 - 1.0%

ปัจจัยบวกที่ช่วยเสริมให้ภาพรวมเศรษฐกิจปลายปีน่าจะดีขึ้น คือ มาตรการที่รัฐบาลได้ออกมาในช่วงนี้ เช่น โครงการคนละ ครึ่ง เฟส 3 ที่จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ที่ขยายสิทธิเพิ่มอีก 2 ล้านสิทธิ จะเป็นแรงเสริม ภาคการท่องเที่ยวในช่วง High-Season แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและตัวเลขการติดเชื้อหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ไป อีกระยะ

ส่วนการส่งออก กกร.คาดว่า ยังคงขยายตัว 12.0% ถึง 14.0% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี ภายใต้เงื่อนไขค่าระวางเรือที่ ไม่สูงจนเกินไป สามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานได้ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่ว ไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%

                               กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ของ กกร.

%YoY          ปี 2563 (ตัวเลขจริง)         ปี 2564 (ณ ก.ย. 64)          ปี 2564 (ณ ต.ค 64)
GDP               -6.1                      -0.5 ถึง 1.0                 0.0 ถึง 1.0
ส่งออก             -6.0                        12 ถึง 14                   12 ถึง 14
เงินเฟ้อ            -0.85                      1.0 ถึง 1.2                 1.0 ถึง 1.2

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อในปัจจุบันทรงตัวถึงลดลง เนื่องจากแผนการจัดหาและจัดสรรวัคซีนที่ ชัดเจน มีการกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัดมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้กิจกรรมทาเศรษฐกิจทยอยเปิดดำเนินการ ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องจับตามองมาตรการผ่อนคลายที่จะออกมากลางเดือน ต.ค.ถึงต้นเดือน พ.ย. ต่อ ไป

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศ แม้หลายพื้นที่จะเริ่มมีระดับน้ำลดลงบ้าง แต่ยังคงมีพื้นที่เฝ้าระวังหลายแห่ง ซึ่งสร้าง ความเสียหายต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลาง เบื้องต้นประเมินว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะกระทบเศรษฐกิจ ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือราว 0.1% ของจีดีพี โดยเป็นความเสียภายในภาคเกษตรกรรม 50% หรือราว 8 พันล้านบาท ซึ่งจะส่ง ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่มีต้นทุนเรื่องวัตถุดิบสูงขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี กระทบต้นทุนการผลิต การขนส่ง การเดินทางของ ภาคธุรกิจ และประชาชนในวงกว้าง ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ต้นทุนนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้นในอัตราเร่ง การอ่อน ค่าของเงินบาท แม้ส่งผลดีต่อธุรกิจส่งออก แต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายสาขาได้รับผลกระทบตามมา แม้ คณะกรรมการบริหารนโยบาย พลังงาน (กบง.) จะมีมติลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนน้ำมันดีเซล เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในขาขึ้น ซึ่งรัฐต้องวางแผนบริหารจัดการพลังงานให้มี ประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมและกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

หลังจากนี้จะต้องติดตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่เร่งตัวขึ้นอย่างมาก อันเนื่องจาก 1) เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อ เนื่อง 2) อุปทานตึงตัว และ 3) การลดกำลังการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่นโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็น ศูนย์ (Net zero emissions) ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมถึงทำให้อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวทั่วโลกปรับตัวขึ้นตามอัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจตัดสินใจลดการผ่อนคลายนโยบายทางการ เงินเร็วกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกรวมถึงค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนไปในทิศทางอ่อนค่าได้ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ กกร. ได้มีประเด็นข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังนี้

1.ความคืบหน้าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของประเทศไทย โดย กกร.ขอ ให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าร่วมการเจรจา CPTPP ซึ่งจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รมว.ต่างประเทศ และ รมว. พาณิชย์ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของภาคเอกชน และเร่งรัดการพิจารณา

เนื่องจากปัจจุบันทางจีน สหราชอาณาจักร และไต้หวัน ได้มีเจตจำนงเข้าร่วมเจรจากับ CPTPP อย่างชัดเจนแล้ว หากไทย ยังล่าช้าไปกว่านี้ อาจทำให้ต้องเจรจาตามเงื่อนไขของประเทศทั้ง 3 เพิ่มเติม จากเดิมที่จะต้องเจรจากับ 11 ประเทศที่เป็นสมาชิก CPTPP ในปัจจุบัน และทำให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่ง ก่อนหน้านี้ กกร. ได้เคยทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ถึงจุดยืนของภาคเอกชนและผล การศึกษาของภาคเอกชน เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาของภาครัฐไปแล้ว โดยจะขอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จัดประชุมเสวนาเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเร็ว รวมถึงนำเสนอผลการศึกษาของ ภาคเอกชน เพื่อสร้างความเข้าใจในภาพรวมของการเข้าร่วมเจรจา CPTPP ของไทย ต่อไป

2.แนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรเสนอแนวทางให้ รัฐบาลดำเนินการแต่งตั้งให้มีตัวแทนภาคเอกชน (กกร.) ร่วมในกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และคณะกรรมการชุดย่อยอื่น ๆ รวมถึง พิจารณาเลื่อนการบังคับใช้มาตราที่เกี่ยวกับบทลงโทษ (หมวดที่ 6 และหมวดที่ 7) ออกไปเป็นเวลาอีก 3 ปี และพิจารณาแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เหมาะสมและไม่อุปสรรค

3.ผลักดันและสนับสนุนการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยภาคเอกชนจะขอให้กรมบัญชีกลางและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นภาคบังคับ และผลักดันให้บัญชีสินค้าที่ได้ รับการรับรองฉลากอีโค่พลัส อยู่ในบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริม หรือสนับสนุน พร้อมทั้ง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตและจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ได้รับการรับรองอีโค่พลัส และสนับสนุนให้ภาค เอกชนที่ผลิตและจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้รับการลดหย่อนภาษี 2 เท่า

"กกร.จะนำข้อเสนอแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีในโอกาสที่ได้เข้าพบเร็วๆ นี้ โดยมีเรื่อง CPTPP เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้จะ เสนอให้ทำโครงการช้อปดีมีคืนในช่วงเดือน พ.ย.64-ม.ค.65 การเติมเงินโครงการคนละครึ่งเป็น 6 พันบาท/ราย" นายสนั่น กล่าว

ส่วนการเปิดประเทศนั้นต้องมีความพร้อมที่จะรองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งต้องดำเนินการควบคุมไปกับการขับ เคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องปากท้องของประชาชน ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือดำเนินตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดย มีบทเรียนจากการจัดทำโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาแล้ว ซึ่งคาดว่าการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะดำเนินการไดไอย่าง เต็มที่ราวต้นปี 65 ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างโดดเด่น

ขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาราคาน้ำมันแพงนั้นจะส่งผล กระทบทบกับทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นเรื่องที่ภาครัฐจะเป็นต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเรื่องค่าขนส่ง และค่าสาธารณูปโภค ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจถดถอย

ด้าน นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า หากภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงปลาย ปีจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ