นายสุพริศร์ สุวรรณิก นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวในงาน PIER Research Brief ครั้งที่ 1/2564 เรื่อง "โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย : ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง" ว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม โดยงานวิจัยครั้งนี้ ได้ฉายภาพ 5 ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่ต้องเผชิญจากความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ได้แก่
1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการพึ่งพาต่างประเทศในระดับสูง จากความเปราะบางในการพึ่งพิงจีน และสหรัฐฯในหลายด้าน
2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อาจทำให้ไทยตกขบวนรถไฟได้ หากปรับตัวไม่ทัน โดยความเปราะบางของโครงสร้างการส่งออกไทย จากมีมูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้อยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางและขั้นสูง ชี้ให้เห็นว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติมายังธุรกิจไทยยังมีไม่สูงนัก
3. ภาวะโลกร้อนจะส่งผลต่อไทยหากไม่เร่งปรับตัว โดยความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทยที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น อาทิ ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของแรงงานนอกภาคเกษตรทั้งประเทศ, มากกว่า 20% ของจำนวนสถานประกอบการ และมากกว่า 10% ของธุรกิจในอุตสาหกรรมส่งออกหลัก อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
4. การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลายด้าน โดยหากมองความเปราะบางของโครงสร้างแรงงานไทย พบว่ามีสัดส่วนแรงงานสูงวัย (มากกว่า 50 ปี) เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในช่วงไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา โดยแรงงานสูงวัยเพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าว จะส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานของประเทศลดลง เพราะความสามารถในการปรับตัวของกลุ่มแรงงานสูงวัยน้อยกว่าวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี และจะส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในที่สุด
5. วิกฤตโควิด-19 ได้สร้างหลายแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าครัวเรือนไทยเริ่มผิดนัดชำระหนี้ และมีหนี้เสียเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้กู้อายุน้อย ซึ่งมีหนี้เร็วและมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียมากอยู่แล้วก่อนเกิดวิกฤต
น.ส.ธนิสา ทวิชศรี นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวยังได้ฉายภาพความเปราะบางทางสังคมที่ไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และอาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการที่หลายภาคส่วนจะร่วมมือกันดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขความเปราะบางทางเศรษฐกิจ
โดยคณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจออนไลน์ในโครงการคิดต่าง อย่างมีภูมิ ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย. 2564 จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 ราย พบว่า ความสมานฉันท์ในสังคมไทยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับคุณภาพสังคมด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะในมิติของความเชื่อมั่นในองค์กร อาทิ รัฐบาล ตุลาการ เป็นต้น ที่อยู่ในระดับต่ำในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตรงนี้เป็นอีกประเด็นในเรื่องการพัฒนาต่อไปว่าหากคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อมั่นในองค์กร ดังนั้นในแง่ความร่วมมือ การขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศก็อาจเป็นไปได้ยาก
ทั้งนี้ หากวัดจากทัศนคติและค่านิยม ผู้วิจัยพบว่า คนรุ่นใหม่มีค่านิยมค่อนไปทางเสรีนิยมมากกว่าคนรุ่นเก่า และความคิดต่างของคนในสังคมอาจนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคมได้ อีกทั้งพบว่าความต่างวัย และพฤติกรรมการบริโภคสื่อด้านเดียว มีความสัมพันธ์ต่อความแตกแยกทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญด้วย
"ที่น่าสนใจ คือ คนที่คิดต่าง อาจไม่ได้ต่างอย่างที่คิด โดยแท้จริงแล้วคน 2 กลุ่ม มีความเห็นตรงกันในเชิงนโยบายหลายประการ เช่น รัฐควรจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาบริการขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพสูง คะแนนเสียงของทุกคน ควรมีค่าเท่ากันในการเลือกตั้ง เป็นต้น" น.ส.ธนิสา กล่าว
อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ต่างกันมาก จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายที่ยากขึ้น เพราะเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม ความขัดแย้งเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม ทำให้คุยกันได้ลำบากมากขึ้น ส่งผลให้การร่วมมือกัน การหาจุดในการดำเนินนโยบายในการพัฒนาประเทศทำได้ยากขึ้น ส่วนช่องทางการลงทุน ในสังคมที่มีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการลงทุนจะต่ำไปด้วย จะมีผลต่อการพัฒนาระยะยาว โดยในเชิงของการเติบโตและการกระจายการเติบโตที่ทั่วถึงก็จะต่ำลงไปด้วย