นายโตชิฮิโกะ ฟูกูอิ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้อาจชะลอตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 5% หรือน้อยกว่านั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตสินเชื่อสหรัฐที่นับวันยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ
"แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงที่ว่า เศรษฐกิจอาจเผชิญช่วงขาลง อันมีต้นเหตุมาจากปัญหาการปล่อยกู้จำนองให้ลูกหนี้ที่ขาดความน่าเชื่อถือ (ซับไพรม์) ของสหรัฐ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินทั่วโลก" นายฟูกูอิกล่าวในการร่วมรับประทานอาหารค่ำที่ธนาคารกลางสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ออกมาเปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 5.4% แต่คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะชะลอตัวลงแตะที่ประมาณ 5.2% และ 4.8% ในปีหน้า
"ภาวะชะงักงันในตลาดเงินทั่วโลกในระยะนี้น่าจะชี้ให้เห็นได้ว่า ภายใต้ปัจจัยที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้มีการขยายตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนั้น ภาวะไร้สมดุลทางการเงินก็อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นตามทิศทางความเสี่ยงของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ" นายฟูกูอิกล่าว
"สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งมีทั้งประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำปะปนกับประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีสำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่น แต่ทว่า ภาระหน้าที่ของธนาคารกลางกลับไม่เคยลดน้อยลงเลย มีแต่จะยิ่งเผชิญความท้าทายเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ"
จากกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เร่งกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศของตนให้แข็งแกร่งโดยไม่ได้รับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากบรรดาผู้ผลิตจากทั่วโลกต่างเผชิญการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น นายฟูกูอิกล่าวทิ้งท้าย สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--