พรรคการเมืองแข่งชูนโยบายเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ชนบท-แก้ปัญหาภาคธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 6, 2007 19:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          พรรคการเมืองส่งตัวแทนร่วมสัมมนาใหญ่"ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2551:ความหวังจากการเลือกตั้ง"โชว์วิสัยทัศน์เสนอแนวนโยบายเศรษฐกิจ สองพรรคใหญ่ยังเน้นทิศทางสร้างรายได้แก้ปัญหาความยากจนภาคชนบท พร้อมลดต้นทุนภาคธุรกิจ ปขป.เสนอใช้ 7.5 แสนล้านบาทฟื้นภาคเศรษฐกิจชนบท-ลงทุนสาธารณูปโภค ตรึงราคาก๊าซ-ลดเก็บเงินดีเซลเข้ากองทุนน้ำมัน พปช.เสนอเพิ่มรายได้รากหญ้า ทุ่มงบพัฒนาโลจิสติกส์ ส่งเสริมพลังงานทดแทน 
นายกนก วงษ์ตระหง่าน หนึ่งในคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคมีนโยบายจะใช้เงิน 7.5 แสนล้านบาท เพื่อเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจในชนบท และผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
นโยบายหลักที่จะเข้ามาแก้ไข คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเน้นให้มีรายได้มากขึ้น โดยเห็นว่าควรเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีกเท่าตัวจาก 27 ล้านไร่ เป็น 60 ล้านไร่ เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่มีปัญหาโดยเฉพาะพื้นที่ในภาคอีสาน โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท
รวมทั้งจะเข้ามารับประกันราคาพืชผลที่ใช้กับธุรกิจเอทานอลทั้งมันสำปะหลัง และอ้อย โดยคาดว่าชาวไร่มันจะสามารถขายได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 2 บาท/กก.
นอกจากนี้ จะนำเงินอีก 2 แสนล้านบาทมาใช้ในการลงทุนสาธารณูปโภคขึ้นพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ได้ถึง 5% และช่วยทำให้ภาคธุรกิจมีกำไรมากขึ้น พร้อมกันนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วยการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน มีนโยบายตรึงราคาก๊าซหุงต้ม และลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันดีเซล ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 2.5 แสนล้านบาท
ด้านนายสำราญ ภู่อนันตารมย์ ตัวแทนพรรคพลังประชาชน นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจ ด้วยการเน้นการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการเพิ่มรายได้ของประชาชน และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประชาชน ขณะที่การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจะเน้นการสร้างตลาด จัดการพืชผลให้ได้ราคาที่ดี โดยจะนำการซื้อขายในตลาดล่วงหน้ามาผลักดัน
ขณะที่ภาคธุรกิจจะเน้นการลดต้นทุน อาทิ การจัดการด้านลอจิสติกส์ที่ดีของภาครัฐบาล ทั้งเรื่องของถนน รถไฟ รถไฟฟ้า ส่วนนโยบายด้านการศึกษา จะสร้างการศึกษาให้กับนักเรียนและส่งเสริมการพัฒนาความสามารถได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้จะส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินเพิ่มมากขึ้น โดยจะเพิ่มทุนให้กับธนาคารของรัฐ อย่าง ธนาคาร SMEs เป็นต้น
พร้อมกับระบุว่า จะต้องมีการลดการใช้พลังงานและหาพลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนที่ปรับตัวขึ้นมาสูงในปัจจุบัน โดยในปี 49 ต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 12.4%ของ GDP จากเมื่อปี 40 อยู่แค่ 3.7% ของ GDP
นายจิรายุ วสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ชูนโยบายด้านเศรษฐกิจด้วยการนำนโยบายด้านการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ โดยจะปรับปรุงแก้ไขนโยบายด้านการจัดเก็บภาษีจากเดิมที่สูงเกินไปและไม่สร้างแรงจูงใจในการชำระภาษี มาเป็นการสร้างแรงจูงใจในการเสียภาษีให้มากขึ้น
นอกจากนี้เห็นว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ คือ ภาคตลาดทุนโดยจะมุ่งให้ทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนให้แก่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งจะดำเนินการตามนโยบายที่สนับสนุนภาคเอกชนและจะไม่เข้าไปแทรกแซงตลาดทุนดังเช่นนโยบายของรัฐบาลที่ที่ผ่านมา โดยพร้อมที่จะผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งเงินออมของประชาชน นอกเหนือไปจากการเข้ามาเก็งกำไรเท่านั้น
รองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน เห็นว่า การแก้ไขปัญหาระยาวของประเทศนั้น จะต้องยกระดับด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเริ่มต้นที่การศึกษาด้วยการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาที่ไม่สามารถผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของภาคการผลิตได้
พร้อมกันนี้ยังมีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนร่วมทุนขนาด 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่พิเศษ ส่วนภาคการเกษตรนั้น พรรคเพื่อแผ่นดินจะสนับสนุนนโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระบบ และยังคงนโยบายกองทุนหมู่บ้านไว้
นายกร ทัพพะรังสี รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า นโยบายที่สำคัญของพรรคคือต้องการลดช่องว่างของรายได้ประชาชนในต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ โดยจะเน้นการเติบโตของรายได้ประชาชนในต่างจังหวัดให้สูงขึ้น ทั้งนี้จะยังคงใช้วัฒนธรรมประชานิยมเพื่อต้องการให้ประชาชนมีเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอย
ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศ จะเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยให้กองทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น แต่ทั้งนี้จะต้องมีการพัฒนาบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนให้แข็งแรงมั่นคงเพียงพอเพื่อจะดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาได้
ขณะที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคได้นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจ 42 ข้อ 12 ด้าน โดยหลักคือต้องการให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี คาดว่านโยบายของพรรคจะต้องใช้เงินประมาณ 4 แสนกว่าล้านบาท ที่จะนำมาจากงบประมาณของประเทศ โดยเห็นว่างบประมาณส่วนนี้จะไม่รวมอยู่ในงบประมาณรายจ่าย แต่แยกออกมาเป็นงบลงทุน
ทั้งนี้นโยบายหลักๆ ได้แก่ การเปิดให้เรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท, สร้างอพาร์ตเม้นท์ราคาถูกเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง, การรับประกันราคาพืชผล, การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร, การจัดหาสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชนตั้งแต่อยู่ในท้องจนถึงเสียชีวิต และรักษาพยาบาลฟรีทุกโรค
"ผมยึดถือความเป็นกลาง ลัทธิการเมืองของเราจะไม่สุดโต่ง ผมจะเปิดเสรีได้เท่าที่ทำ แต่ถ้าเป็นเรื่องสาธารณูปโภคจะให้รัฐทำ นโยบายของเราที่ทำทั้งหมดนี้เพื่อให้ชีวิตทุกคนสุขสบาย" นายประชัย กล่าว
นายเกษมสันต์ วีระกุล หนึ่งในทีมเศรษฐกิจ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวว่า พรรคมองเห็นปัญหาของประเทศที่ยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจในแบบเดิม เช่น ความผันผวนของค่าเงิน, ราคาน้ำมันแพง ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำ ดังนั้นพรรคต้องการจะนำเสนอแนวทางในการใช้เม็ดเงินประมาณ 6 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายให้ GDP โตไม่ต่ำกว่า 5% และเงินเฟ้อไม่เกิน 3% หนี้สาธารณะไม่เกิน 20% ของ GDP
ขณะเดียวกันจะลดภาระของประชาชนในการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี และไม่เก็บค่าไฟฟ้าแก่ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 100 บาท/เดือน รวมทั้งลดการจัดเก็บภาษีรายได้ในกรณีที่คนโสดมีรายได้ไม่ถึง 2.4 แสนบาท/ปี และผู้ที่สมรสแล้วแต่มีรายได้ไม่ถึง 2.8 แสนบาท/ปี รวมทั้งจะให้การลดหย่อนมากขึ้นแก่ผู้ที่เลี้ยงดูบุพการี
ส่วนธุรกิจ SMEs ที่จดทะเบียนใหม่จะได้รับการยกเว้นการชำระภาษีภายใน 5 ปีแรก รวมถึงการคงไว้ซึ่งนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น รวมทั้งจะลงทุนด้านโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนลงให้เหลือ 10% จาก 20% ในปัจจุบัน
"เศรษฐกิจไทยไม่ควรที่จะอ่อนแอขนาดนี้ วันนี้ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้งและนำนโยบายดีๆ ไปใช้ เพราะหากเศรษฐกิจต่อให้ดีขนาดไหน ถ้าไม่เลิกทะเลาะกันแล้วประเทศไทยก็ไปไม่รอด" นายเกษมสันต์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ