ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ในเดือนก.ย.64 เริ่มมีทิศทางทรงตัว ส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาดบางส่วน เช่น ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร ที่เริ่มกลับมาเปิดทำการได้ ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนก.ย.ปรับตัวเพิมขึ้นอยู่ที่ 36.6 จาก 33.0 ในเดือนส.ค.64 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 38.4 จาก 35.5 ในเดือนส.ค.64 โดยครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงาน
อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากครัวเรือนบางส่วนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้รวมถึงราคาพลังงาน ค่าสาธารณูปโภค และบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวัน
ช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์การได้รับวัคซีนมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี การส่งมอบและการจัดหาวัคซีนเป็นไปตามแผนการของภาครัฐ แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนจะยังมีการกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่เสี่ยง แต่เริ่มมีการจัดสรรไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดอัตราการฉีดวัคซีนของไทยเข็มแรกครอบคลุม 53.0% และเข็มที่สองครอบคลุม 35.4% ของจำนวนประชากร จำนวนผู้ติดเชื้อที่เริ่มทรงตัวและอัตราการฉีดวัคซีนที่คืบหน้า ส่งผลให้ภาครัฐอนุมัติมาตรการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้สำรวจเพิ่มเติมถึงโครงการท่องเที่ยวของภาครัฐดังกล่าวว่าจะสามารถช่วยจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 ของปีเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ โดยผลสำรวจระบุว่า มาตรการดังกล่าวสามารถจูงใจให้ครัวเรือนในกรุงเทพฯ ออกไปท่องเที่ยวได้ 30.7% ขณะที่จูงใจให้ครัวเรือนในต่างจังหวัดได้เพียง 16.5% ซึ่งส่วนใหญ่วางแผนท่องเที่ยวกันในเดือนธ.ค.64 ที่เป็นช่วงวันหยุดสิ้นปี
"อัตราการได้รับวัคซีนที่ครอบคลุม มีแนวโน้มส่งผลถึงการตัดสินใจออกไปท่องเที่ยว ดังนั้นการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ สามารถกลับมาคึกคักได้ในช่วงที่เหลือของปี 2564"
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจต่าง ๆ มีแนวโน้มจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้เพิ่มขึ้น หลังภาครัฐประกาศเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศที่มีความเสี่ยงโควิด-19 ต่ำเข้ามาท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัว รวมถึงจะมีการผ่อนคลายกิจกรรมต่าง ๆ ในประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตาม ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย ยังเผชิญความไม่แน่นอนอีกหลายปัจจัย โดยมีความเสี่ยงที่เพิ่มเติมเข้ามา อย่างสถานการณ์น้ำท่วม ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของครัวเรือนบางส่วน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าในช่วงเดือนต.ค.64 จะมีพายุที่ส่งผลกระทบต่อไทย คือ "ไลออนร็อก" ที่เริ่มอ่อนกำลังลงและ "คมปาซุ" ที่กำลังเริ่มก่อตัวขึ้น และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในช่วง 13-14 ต.ค.64 โดยจะส่งผลกระทบหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
นอกจากนี้ คาดว่าจะมีพายุโซนร้อน "น้ำเทิน" ที่ต้องจับตามองในช่วงหลังวันที่ 18 ต.ค.64 ว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร ขณะที่ปัจจัยเรื่องราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาคครัวเรือน