นายยรรยงค์ ไทยเจริญ ผู้บริหารทีมนโยบายเงินทุนและดุลการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มที่จะเผชิญความผันผวนต่อไปอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากยังมีแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ
สำหรับเงินบาทในปี 50 ยังมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัญหาสินเชื่อซับไพร์ม แต่แรงกดดันจะลดน้อยลงจากปีนี้ เพราะการลงทุนในประเทศจะฟื้นตัวขึ้นหลังมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้มีความเชื่อมั่นกลับมา แม้ว่าอาจมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในประเทศ แต่ก็จะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง
"ปัจจัยในประเทศเราจะมีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันเพิ่ม ทำให้มลค่าการนำเข้าเพิ่ม สุดท้ายเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง"นายยรรยงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออก แต่ผู้ประกอบการไม่ควรให้ความสำคัญเพียงเรื่องเดียว แต่ควรต้องดูเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าด้วย ไม่ใช่มองเฉพาะค่าเงินเท่านั้น
นายยรรยงค์ กล่าวว่า นโยบายดูแลค่าเงินของ ธปท.คงจะใช้การแทรกแซง เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็งค่าเกินไป แต่การแทรกแซงก็ทำให้เกิดต้นทุน และเมื่อมีสภาพคล่องมากเกินไป ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้น ธปท.จำเป็นต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง ซึ่งแม้จะทำให้ ธปท.เสียดอกเบี้ย
"การแทรกแซงไม่ใช่ว่าดี เพราะเกิดต้นทุน"นายยรรยงค์ กล่าว
พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงว่าการที่ภาครัฐเข้ามาดูแลค่าเงินบาทมากเกินไปจะทำให้ผู้ประกอบการไม่ปรับตัว แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องปรับตัวก็จะเกิดผลกระทบรุนแรง ทางการจึงต้องอาศัยมาตรการอื่นเข้ามาช่วยเสริม เช่น มาตรการกันสำรอง 30% หรือมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ 6-7 มาตรการถือเป็นมาตรการเสริมของทางการด้วย
นายยรรยงค์ กล่าวว่า อยากให้ผู้ประกอบการปรับตัวโดยใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น ทำ Foward หรือ Option หรือการเปิดบัญชีเงินฝากต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--