ธปท. ชี้โควิดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านภาคการเงินไทยพลิกโฉมสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 18, 2021 10:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธปท. ชี้โควิดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านภาคการเงินไทยพลิกโฉมสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงาน Bangkok FinTech Fair 2021 ในหัวข้อ A New Decade of Opportunities ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น "เร็ว" และ "แรง" อย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่พลิกโฉมการใช้ชีวิต การดำเนินธุรกิจ และการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไปอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันวิกฤติโควิดก็เข้ามาเร่งให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยี และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

เรื่องที่ 2 คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เราเห็นภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนภาคเศรษฐกิจในหลายส่วน ทำให้เราต้องหันมาคิดอย่างจริงจังว่า ทำอย่างไรที่จะผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจและประเทศ เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้

ทั้งนี้ ผู้ว่าการ ธปท. ได้นำเสนอความคิดเกี่ยวกับการปรับตัวของภาคการเงินในทศวรรษนี้ ซึ่งแบ่งมุมมองเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 คือ การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเห็นในภาคการเงินไทย

ส่วนที่ 2 คือ การดำเนินงานของ ธปท. ในการสร้างโอกาสและรับมือกับความท้าทายที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งในแง่การปรับตัวของ ธปท. และในแง่แนวทางของ ธปท.ที่จะวางภูมิทัศน์หรือ landscape ของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป

ส่วนที่ 3 คือ ภาพอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปที่ทำให้ประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ให้บริการทางการเงินได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

ในส่วนแรก เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของภาคการเงินไทย ซึ่งมีอย่างน้อย 2 ด้าน

ด้านแรก คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางการเงินอย่างกว้างขวาง เช่น ด้านบริการชำระเงิน โครงสร้างพื้นฐาน PromptPay ทำให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมฝาก ถอน โอนเงิน หรือชำระเงินได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว ทุกที่ ทุกเวลา โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียน PromptPay มากกว่า 60 ล้านหมายเลข และมีมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ยต่อวันกว่า 85,000 ล้านบาท หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Blockchain มาใช้ในการออกหนังสือค้ำประกันให้กับองค์กรต่าง ๆ ช่วยลดเวลาในการออกหนังสือค้ำประกันจากเดิม 3-5 วัน ปัจจุบันเหลือเพียง 10 นาที ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับธุรกิจและภาครัฐได้มาก

ด้านที่ 2 คือ การเพิ่มขึ้นของบทบาทของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ทั้งในรูปแบบที่เป็น non-bank เดี่ยวหรือ non-bank ร่วมมือกับธนาคาร ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลาย และมีส่วนสำคัญในการเข้ามาเติมเต็มให้กับกลุ่มประชาชนหรือ SMEs ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินบางประเภท โดยเฉพาะเรื่องของสินเชื่อ เช่น การทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดข้อมูลทางเลือก หรือที่เรียกกันว่า alternative data ที่ช่วยให้ประชาชนที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีหลักประกัน หรือไม่มีข้อมูลกับสถาบันการเงิน สามารถใช้ข้อมูลพฤติกรรมในการขอสินเชื่อและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ในเรื่องนี้ ธปท. ได้อนุญาตให้มี ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับดี โดยปัจจุบันการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลนี้ช่วยให้ประชาชนกว่า 2 แสนราย เข้าถึงสินเชื่อกว่า 2 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นใหม่ ๆ จากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่พยายามเข้ามาปิดช่องว่างในการให้บริการทางการเงินหรือสนับสนุนการทำธุรกิจให้กับกลุ่ม เช่น กลุ่ม FinTech startups ที่เข้ามาให้บริการในส่วนที่ยังเป็นช่องว่างของการให้บริการโดยกลุ่มธนาคาร อย่างผู้ให้บริการ peer-to-peer lending platform ที่เชื่อมโยงผู้กู้กับผู้ให้กู้โดยตรง หรือ BigTech platforms ที่มีการให้บริการครบวงจรตั้งแต่ให้บริการซื้อขายสินค้า ส่งของ ลงทุน ไปจนถึงการให้บริการทางการเงิน และล่าสุด มีการให้บริการในลักษณะเป็น Decentralized Finance หรือ DeFi ที่ดำเนินกิจกรรมทางการเงินทุกอย่างด้วย smart contracts ซึ่งเป็นการตัดบทบาทของตัวกลางออกไป แม้ปัจจุบันจะยังมีจำนวนไม่มาก แต่แนวโน้มเหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจปัจจุบันจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้

สำหรับส่วนที่ 2 นอกจากผู้ประกอบการต้องปรับตัว ธปท. เองก็จำเป็นต้องปรับ และดำเนินการเพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากโอกาสที่มากับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างเต็มที่ โดยการเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำกับดูแล และรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินที่จะคำนึงถึงต้นทุนจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจ และการกำกับดูแลตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายขนาดและประเภทมากขึ้น โดยในเรื่องเสถียรภาพนั้น จะให้น้ำหนักของเรื่อง resiliency มากขึ้น คือ ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงและแรงกดดันต่าง ๆ รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวหลังจากถูกแรงกระทบ เพื่อให้เกิดวิวัฒนาการสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า นอกจากการปรับตัวของ ธปท. ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงแล้ว ธปท. จะดำเนินการใน 3 แนวทางสำหรับสร้างภูมิทัศน์หรือ Landscape ของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป หรือที่เรียกกันภายในว่า 3 Open ประกอบด้วย

Open แรก คือเรื่องของ Open, shared and interoperable infrastructure ได้แก่ การมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม โดยต้องเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่ สามารถเข้ามาต่อยอดบริการทางการเงินได้ และแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ต้องมีการ share infrastructure เพื่อลดต้นทุน และทำให้ Infrastructure ที่สร้างขึ้นมาสามารถเชื่อมโยงกันได้

ขณะเดียวกัน การพัฒนาเงินบาทดิจิทัล หรือ CBDC ก็จะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบการเงินของเราในอนาคต เพิ่มทางเลือกสำหรับประชาชนและธุรกิจให้สามารถเข้าถึงเงินดิจิทัลที่ปลอดภัยได้ ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการหลากหลายประเภทนำไปพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติมได้ และยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ ธปท. ร่วมผลักดัน เช่น digital ID ภายใต้ NDID platform เพื่อใช้ยืนยันตัวตนสำหรับธุรกรรมในภาคธุรกิจ ภาคธนาคาร และภาครัฐ

"ล่าสุด มีลูกค้าลงทะเบียนใช้งาน NDID แล้วเกือบ 2 ล้านราย ในอนาคต ธปท. จะร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในการผลักดันให้มีการใช้งาน digital ID อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนา digital ID สำหรับนิติบุคคลในระยะต่อไป" นายเศรษฐพุฒิ ระบุ

Open ที่ 2 คือเรื่องของ Open environment ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการแข่งขันอย่างเท่าเทียม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมจากผู้เล่นทุกประเภท โดยจะปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อทั้งการปรับตัวของผู้เล่นรายเดิมและการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ กำกับดูแลเป็นสัดส่วนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ หรือ risk proportionality รวมถึงการปรับปรุง regulatory sandbox ของ ธปท. ให้ยืดหยุ่น เปิดรับนวัตกรรมของผู้เล่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมสามารถเข้าทดสอบได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระที่ผู้ประกอบการต้องติดต่อกับผู้กำกับดูแลหลายราย

Open ที่ 3 คือเรื่อง Open data คือ การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกันได้ เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูล และนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เป็นทิศทางที่ทุกประเทศกำลังเดินหน้าไป สำหรับในภาคการเงินไทย การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำถูกต้องในการวางนโยบาย การบริหารความเสี่ยง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า

"ปัจจุบัน ธปท. ร่วมกับภาคธนาคารกำลังดำเนินการเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูล bank statements เพื่อให้ลูกค้านำข้อมูลการเงินของตนเองไปขอใช้บริการอื่น ๆ เช่น การขอสินเชื่อ หรือการยืนยันฐานะกับหน่วยงานอื่นได้สะดวกมากขึ้น และจะขยายไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลอื่น ๆ ในระยะต่อไป โดย ธปท.จะร่วมกับผู้ประกอบการภาคการเงินกำหนดมาตรฐานและทิศทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการเงิน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรข้อมูลร่วมกันอย่างชัดเจน" ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

สำหรับส่วนที่ 3 โอกาสหรือประโยชน์ที่แต่ละภาคส่วน จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยในมุมของประชาชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการดังกล่าว จะช่วยทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการรายบุคคลมากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกกันว่า mass customization รวมทั้งได้รับความสะดวกในการใช้บริการทางการเงิน เช่น สามารถทำธุรกรรมโดยไม่ต้องไปที่สาขาธนาคาร จากการยืนยันตัวตนข้ามหน่วยงานผ่านโครงสร้างพื้นฐาน digital ID และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการผ่านการใช้มาตรฐาน APIs ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดเวลาและต้นทุนในการทำธุรกรรม เปิดโอกาสให้มีบริการทางการเงินที่หลากหลาย ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่เข้าถึงบริการทางการเงินได้ยากในอดีต จะมีโอกาสมากขึ้นจากการทำธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล ทำให้มี digital footprint ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์ประกอบการให้บริการของผู้ประกอบการได้ด้วย ในมุมของผู้ประกอบธุรกิจ การเร่งให้มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานจากการลดขั้นตอน ลดความผิดพลาด ลดเวลาในการให้บริการ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขวางมากขึ้นจากการให้บริการช่องทางดิจิทัล และการเข้าถึงข้อมูลที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า

ในมุมของผู้ให้บริการทางการเงิน การสนับสนุนให้มีการพัฒนาและใช้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลร่วมกัน เช่น โครงการ Smart financial and payment infrastructure และโครงการอื่น ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น จะส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของ ธปท.ที่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะช่วยลดต้นทุนและเอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวด้วยว่า คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกล่าวถึงความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งด้านภัย ไซเบอร์และการหลอกลวงที่ทวีจำนวนและความหลากหลายของรูปแบบมากขึ้น ธปท. จึงยังคงให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถให้การป้องกันและรับมือกับภัยไซเบอร์ของผู้ประกอบการทางการเงินอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ใช้บริการในการระวังป้องกันตัวเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ