BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 33.15-33.60 เงินเฟ้อพุ่งกดดันหลายปท.คุมเข้มนโยบาย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 18, 2021 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.15-33.60 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.30 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.15-33.89 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นทั้งจากปัจจัยเฉพาะตัวเกี่ยวกับความหวังเรื่องการเปิดประเทศ และปัจจัยตลาดโลกขณะที่ดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไร เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเยน ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานและโลหะที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นรอบใหม่

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯลดลง แต่บอนด์ยิลด์ระยะสั้นสูงขึ้นและกดดันค่าเงินเยนสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งในปี 2565 ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯเมื่อเทียบรายปีทะยานขึ้น 5.4% ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานอยู่ที่ 4.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ดี ผลประกอบการที่สดใสของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงหนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

ส่วนรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 21-22 กันยายน ส่งสัญญาณว่าอาจจะเริ่มลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนหรือกลางเดือนธันวาคมนี้ แต่เห็นต่างกันในเรื่องจังหวะเวลาปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 9,428 ล้านบาท และ 4,261 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะติดตามข้อมูลเศรษฐกิจจีน ตัวเลขภาคการผลิต และยอดขายบ้านของสหรัฐฯ รวมถึงราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งกรุงศรีมองว่าต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มคุมเข้มนโยบาย อนึ่ง ในภาวะเช่นนี้ คาดว่าเงินดอลลาร์จะได้รับแรงหนุนเมื่อเทียบกับสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เคยประเมินไว้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 29 กันยายน ระบุว่า กนง.ประเมินเศรษฐกิจผ่านพ้นจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/64 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดย กนง.เน้นย้ำมุมมองที่ว่ามาตรการด้านการเงิน และการเร่งกระจายสภาพคล่องอย่างตรงจุดและต่อเนื่อง จะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ ธปท.ไม่ต้องการให้ค่าเงินเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ โดยกรุงศรีคาดว่า กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะผันผวนสูง และทางการอาจเข้าดูแลไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไปท่ามกลางความเสี่ยงจากเงินเฟ้อด้านต้นทุนนำเข้าที่สูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ