นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการ กนอ.ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานกับ บริษัท เอเพ็กซ์ ปาร์ค จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ S-Curve และ New S-Curve ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามนโยบายรัฐบาล
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีนฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหัวสำโรง และตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ประมาณ 2,191.50 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 1,600.22 ไร่ หรือคิดเป็น 73.17% พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคประมาณ 358.34 ไร่ คิดเป็น 16.22% และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชนประมาณ 232.03 ไร่ คิดเป็น 10.61% ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นการดำเนินงานในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค จัดเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 66 โดยใช้ระยะเวลาพัฒนาโครงการประมาณ 2 ปี ซึ่งหลังจากประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรมแล้วคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2566
โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีนฯ เน้นกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตเป็นหลัก เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง ชิ้นส่วนยานพาหนะ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมเบา กลุ่มกิจการบริการและสาธารณูปโภค กลุ่มเกษตรกรรมและผลผลิตจากการเกษตรที่มีความต้องการใช้น้ำต่ำ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA : Environmental Impact Assessment) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว ซึ่งดูจากพื้นที่ตั้งโครงการถือว่าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ มีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่สะดวก โดยอยู่ห่างจากท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 100-130 กิโลเมตร ห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภาประมาณ 80-120 กิโลเมตร และมีนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงพื้นที่โครงการฯ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี
"นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีนฯ อยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศที่รัฐบาลจัดเตรียมระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบวงจร มีศักยภาพที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งจากศักยภาพดังกล่าวคาดว่านิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งหากมีการลงทุนเต็มพื้นที่แล้ว จะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในนิคมฯ ประมาณ 64,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานประมาณ 16,000 คน สะท้อนถึงศักยภาพของการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม และการเป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคตได้อย่างแน่นอน" นายวีริศ กล่าว