(เพิ่มเติม) ตร.ถก ธปท.-แบงก์หาทางตัดโอกาสลักลอบหักเงิน แนะแจ้งความได้ทุกพื้นที่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 19, 2021 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ตร.ถก ธปท.-แบงก์หาทางตัดโอกาสลักลอบหักเงิน แนะแจ้งความได้ทุกพื้นที่

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ประชุมร่วมตัวแทนสมาคมธนาคารไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหากรณีมีการลักลอบหักเงินจากบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต หรือบัญชีเดบิต ของประชาชนจำนวนมาก

รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า เบื้องต้นมีผู้เสียหายหลักหมื่นคน ซึ่งบางส่วนทยอยเข้าแจ้งความกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) และศูนย์ปราบปรามการอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศูนย์ PCT) แล้ว ซึ่งหากผู้ใดได้รับความเดือดร้อน สามารถเข้าแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ ก็จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลมาที่ส่วนกลางทันที

(เพิ่มเติม) ตร.ถก ธปท.-แบงก์หาทางตัดโอกาสลักลอบหักเงิน แนะแจ้งความได้ทุกพื้นที่

สำหรับพฤติกรรมของคนร้าย ลักลอบนำข้อมูลจากบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต จากการซื้อสินค้าออนไลน์ของประชาชน ไปใช้หักเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย ซึ่งตำรวจจะร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อติดตามตัวผู้ก่อเหตุมาให้ได้ แม้ผู้ก่อเหตุอาจจะเป็นชาวต่างชาติก็จะดำเนินการถึงที่สุดเนื่องจากถือเป็นภัยคุกคามระดับประเทศ

ต่อมาภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 2 ชั่วโมง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ระบุว่า การพูดคุยในวันนี้ได้พูดถึงเรื่องการป้องกันตัดโอกาสไม่ให้มีการกระทำผิดขึ้น รวมถึงการให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ไปในทุกช่องทาง เพื่อลดช่องโอกาสในการตกเป็นเหยื่อ

(เพิ่มเติม) ตร.ถก ธปท.-แบงก์หาทางตัดโอกาสลักลอบหักเงิน แนะแจ้งความได้ทุกพื้นที่

ในเบื้องต้นตรวจพบมีผู้เสียหายจากผู้ใช้บัตรเครดิต 5,700 ราย ผู้ใช้บัตรเดบิต 4,800 ราย มีมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท ทั้งนี้ทางธนาคารได้รับเป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ด้วย โดยธนาคารต่างๆ จะตรวจสอบความผิดปกติในการโอนเงินของบัญชีต่างๆ ควบคู่กับการรับแจ้งจากประชาชนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อรวบรวมข้อมูลและหลักฐาน ส่งให้ตำรวจติดตามหาตัวคนร้ายต่อไป ทำให้ผู้เสียหายไม่ต้องเข้าแจ้งความกับตำรวจ แต่สามารถเข้าติดต่อธนาคารเจ้าของบัญชีได้โดยตรง

ขณะเดียวกันจะมีการตั้งผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เชื่อมั่นว่าจะสามารถตามจับคนร้ายได้ แม้จะเป็นชาวต่างชาติ ก็มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือสัญญาต่างตอบแทน แต่เบื้องต้นขอให้รู้ตัวคนร้ายให้แน่ชัดก่อน

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ระบบธนาคารมีความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งในส่วนของการเยียวยา กรณีที่ผู้เสียหาย ได้รับผลกระทบจากบัตรเดบิตจะได้รับการคืนเงินภายใน 5 วันทำการ ส่วนบัตรเครดิต ธนาคารจะยกเลิกรายการดังกล่าว ผู้เสียหายไม่ต้องชำระเงินตามยอดเรียกเก็บที่ผิดปกติ โดยทางธนาคารพร้อมรับผิดชอบคืนเงินให้ผู้เสียหายทุกกรณี ซึ่งเมื่อตรวจสอบพบความเสียหายแล้วจะติดต่อกลับไปยังผู้เสียหายเพื่อคืนเงินต่อไป

นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า กรณีนี้คนร้ายใช้ช่องโหว่ของการอำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ สร้างความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งมีหลายวิธีการ จากการตรวจสอบพบแล้ว 5 วิธีการ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ทั้งหมด เพราะอาจเป็นการชี้ช่องให้มิจฉาชีพนำไปใช้ได้ โดยจากนี้ ทางธปท.และธนาคารต่างๆ จะมีการปรับปรุงระบบให้ดีที่สุด

นายธวัช ไทรราหู ประธานชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริต ธนาคารยูโอบี กล่าวถึงข้อกังวลของประชาชนบางส่วน ที่อาจไม่เคยทำบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต แต่ถูกหักเงินในบัญชีไป โดยยืนยันว่า ไม่ได้เกิดจากแอปดูดเงินอย่างที่มีข้อกังวล ส่วนกรณีนี้ มีการนำข้อมูลของบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ไปสร้างความเสียหายให้กับประชาชน โดยเฉพาะ บัตรเดบิต ที่มีการผูกไว้กับบัญชีเงินฝากของประชาชน เมื่อมีการถูกตัดเงิน จึงเกิดผลกระทบทันที แต่กรณีที่ผู้เสียหายไม่เคยผูกบัญชีไว้กับการใช้จ่ายใดๆนั้น ก็อาจได้รับผลจากการใช้บริการร้านค้าออนไลน์บางประเภทได้ เช่น การซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์ผ่านร้านค้า, การเช่าเว็บไซต์ หรือ การได้สิทธิเข้าเล่นเกมรายครั้ง ซึ่งจากนี้ ต้องเดินหน้าให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้น

ด้านตัวแทน ปปง. กล่าวว่า ทาง ปปง. มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก ทำให้สามารถร่วมกับธปท. และธนาคารต่าง ๆ ตรวจสอบเส้นทางทางการเงิน ย้อนกลับไปหาตัวคนร้ายได้

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC เตือนภัยผู้บริโภคออนไลน์ เมื่อเกิดปัญหาจากภัยที่ถูกตัดเงิน หรือเงินหายจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว มีสิ่งสำคัญที่ต้องพึงระวังเพิ่มเติม ดังนี้

1. ระวังการกรอกกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือให้ข้อมูลสำคัญทางธุรกรรมผ่านทางโทรศัพท์หรืออีเมล หรือแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น แอปพลิเคชันสินเชื่อให้เงินกู้ เกมออนไลน์

2. ควรกำหนดวงเงินการใช้จ่ายของบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตให้เหมาะสม เพื่อจำกัดมูลค่าความเสียหาย บางกรณีอาจเลือกตั้งค่าวงเงินให้ต่ำสุดที่ระบบรองรับได้ และปรับแต่งอีกครั้งเมื่อมีการเรียกใช้งาน

3. เลือกใช้ช่องทางการแจ้งเตือนการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวของบัญชี หรือบัตรเครดิต เช่น แจ้งยอดการเคลื่อนไหวของบัญชีออมทรัพย์ หรือยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตผ่าน SMS การตั้งค่าเตือนผ่านแอปพลิเคชัน

4. หมั่นสังเกตเงินในบัญชีตนเองว่ามียอดลดลงหรือไม่ หรือหากพบการใช้งานที่ผิดปกติควรรีบติดต่อ call center หรือสาขาของธนาคารผู้ออกบัตรโดยด่วน เพื่อแจ้งตรวจสอบ หรือแก้ไขการทำธุรกรรมในทันที

5. หากได้รับการประสานจากธนาคารถึงความผิดปกติ ทั้งจากทางอีเมล หรือโทรศัพท์ เช่น การล็อกอินเข้าสู่ระบบที่ผิดปกติ การเปลี่ยนข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีบัตร ให้รับทราบ และประสานกลับตามช่องทาง call center ปกติของธนาคาร เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นช่องทางจากธนาคารจริง หากเป็นการแจ้งจากธนาคารจริง ให้เฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อจากนี้ เช่น การนำรหัสผ่านไปใช้งานต่อ การเปลี่ยนอาจมีการฝังมัลแวร์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ผู้ใช้งานเพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมตลอดเวลา

          สำหรับผู้บริโภคออนไลน์ที่ประสบปัญหาเงินหายโดยไม่รู้ตัว โดยระบุว่า เมื่อทราบว่าตนเองได้ตกเป็นเหยื่อแล้ว จะต้องรีบแจ้งอายัดบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตทันที เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเลขหน้าบัตร รวมถึงรหัส cvv ไปใช้ จากนั้น ติดต่อ call center         ของธนาคารต้นเรื่อง และดำเนินการตามขั้นตอนของธนาคาร เพื่อปฏิเสธการจ่ายรายการหรือธุรกรรมต่าง ๆ ที่ผิดปกติ และต้องไม่ลืมที่จะเก็บหลักฐานทั้งหมดที่ได้รับ เช่น SMS หน้าจอ วงเงิน statement ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ เป็นต้น

ผู้บริโภคออนไลน์หรือประชาชน ที่ประสบปัญหาภัยคุกคามออนไลน์ ทั้งในกรณีเงินถูกหักโดยไม่รู้ตัว ถูกหลอกลวง ซื้อของแล้วไม่ได้ของ หรือได้ของไม่ตรงปก สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน หรือปัญหา หรือขอคำปรึกษาเข้ามาได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ 1212 occ ของ ETDA ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตามช่องทางติดต่อต่างๆ ถึง 4 ช่องทาง คือ 1. สายด่วนโทร.1212 2. อีเมล 1212@mdes.go.th 3. เว็บไซต์ https://www.1212occ.com 4. เฟซบุ๊ก "ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC https://www.facebook.com/1212OCC (คุยที่แช็ตบอต m.me/1212OCC) จากนั้นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ จะทำการประสานต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือ และได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ