นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยความเคลื่อนไหวของราคาสินค้า และค่าบริการที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการ 430 รายการ ใน 7 หมวดที่จำเป็นต่อการครองชีพ ได้แก่ 1. หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2. หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 3. หมวดเคหสถาน 4. หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 5. หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 6. หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ และ 7. หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เปรียบเทียบกับราคาในปีฐาน และคำนวณอัตราการเปลี่ยนแปลงเป็นอัตราเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อล่าสุด เดือนก.ย. 64 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว 1.68% ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น และเมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าและบริการ จะพบว่ามีจำนวนการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
- สินค้าและบริการที่ราคาเพิ่มขึ้น 204 รายการ เช่น น้ำมันปาล์ม 1 ลิตร ราคาเฉลี่ยเดือนก.ย. เท่ากับ 47.03 บาท เพิ่มขึ้น 11.11 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ราคาเฉลี่ยเดือนก.ย. เท่ากับ 30.43 บาท เพิ่มขึ้น 8.07 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นต้น
- สินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 69 รายการ เช่น ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าบริการใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
- สินค้าและบริการที่ราคาลดลง 157 รายการ เช่น เนื้อสุกร ส่วนสันนอก 1 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยเดือนก.ย. เท่ากับ 153.74 บาท ลดลง 8.83 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อน, ข้าวสารเจ้า 1 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยเดือนก.ย. เท่ากับ 39.54 บาท ลดลง 4.90 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และค่าธรรมเนียมการศึกษา โรงเรียนรัฐบาล ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ราคาเฉลี่ยเดือนก.ย. เท่ากับ 5,232.32 บาท ลดลง 178.75 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นต้น
นายรณรงค์ กล่าวว่า การที่ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ทั้งที่เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก อาจจะมีสาเหตุจากค่าใช้จ่ายในสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้น เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง อาหารเช้า และอาหารตามสั่ง รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ด้วยบทบาทและหน้าที่มีนโยบายและมาตรการเพื่อดูแลราคาสินค้าและบริการอย่างสม่ำเสมอตลอดมา ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในเรื่องเสถียรภาพราคา ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนที่บ่งชี้ว่ากำลังอยู่ในภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) เงินฝืด (Deflation) หรือความซบเซาทางเศรษฐกิจ (Stagnation)
"ในทางตรงกันข้าม มีสัญญาณทางบวก จากทั้งการส่งออก และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ สนค. จะติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการอย่างใกล้ชิดต่อไป" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ