กบง.ออกมาตรการบรรเทาปัญหาดีเซลแพง กำหนดส่วนต่างราคา-เปิดช่องลดภาษีน้ำมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2021 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้ต้นทุนราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลในประเทศสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร ที่ประชุม กบง.จึงได้มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้น

โดยกำหนดให้มีน้ำมันกลุ่มดีเซล 3 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7, น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 พร้อมทั้งให้กำหนดส่วนต่างราคาดีเซล บี7 กับน้ำมันดีเซลธรรมดา ที่ 0.15 บาทต่อลิตร และส่วนต่างราคาดีเซล บี7 กับ บี20 ที่ 0.25 บาทต่อลิตร โดยยังคงค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร

พร้อมทั้ง เห็นชอบแนวทางดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ณ วันที่ 17 ต.ค.64 มีฐานะกองทุนฯ อยู่ที่ 9,207 ล้านบาท) ในการรักษาระดับราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมถึงกู้ยืมเงินเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซล

ทั้งนี้ หากในกรณีราคาน้ำมันดิบดูไบเกิน 87.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือสถานะกองทุนน้ำมันฯ ไม่เพียงพอ ก็จะประสานกระทรวงการคลังเพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นลำดับต่อไป

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กบง. ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. ? มอบสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประสานสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) นำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลให้ส่วนต่างราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลเป็นไปตามกำหนด

และมอบหมาย สนพ. ประสาน สกนช. นำเสนอ กบน.ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการอัตราเงินกองทุน เพื่อให้ค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลแต่ละชนิด ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน หลังแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยได้รับแรงกดดันจากตัวเลขภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการเตรียมเปิดประเทศในหลายประเทศ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ วิกฤตการด้านก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จะติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ทั้งด้านน้ำมัน ด้านก๊าซปิโตรเลียวเหลว ด้านไฟฟ้า ให้ได้รับความเป็นธรรม เหมาะสมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ