นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมรองรับนโยบายการเปิดประเทศ ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่า ภาพรวมพบว่า ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งประกอบด้วย ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมถึงท่าอากาศยานภูเก็ตที่อยู่ในความรับผิดชอบของ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. มีความพร้อมในการรองรับการเปิดประเทศตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยใช้โมเดลโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา
จากการตรวจความพร้อมทั้งสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ พบว่าได้กำหนดขั้นตอนต่างๆ อย่างเป็นระบบ โดยระยะเวลาของผู้โดยสารตั้งแต่ลงจากเครื่องบินจนถึงกระบวนการต่างๆ ใช้ระยะเวลาประมาณ 25 นาที/คนส่วนสนามบินสุวรรณภูมิ คาดว่าจะใช้เวลมากกว่าเล็กน้อยเนื่องจากมีระยะทางจากลงเครื่องบินถึง ตม. ไกลกว่า ทั้งนี้ภาพรวม เร็วกว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ใช้เวลาประมาณ 30 กว่านาที/คน เนื่องจากมีการใช้แอปพลิเคชัน "Thailand Plus" เป็นระบบ AI ไม่ต้องเอกสารยืนยันเป็นกระดาษ โดยมีกระทรวงการต่างประเทศรับรอง ทำให้ใช้เวลาตรวจสอบลดลงไปมาก
มีการจัดช่องทางไว้อย่างชัดเจนและหากว่าผู้โดยสารมีความเสี่ยง เช่น มีไข้ ทีมของสาธารณสุขจะมีการแยกผู้ดดยสารนั้นออกจากผู้โดยสารอื่นๆไม่ให้ปะปน และนำไปตรวจอย่างละเอียด นอกจากนี้ กรณีป้ายบอกทางหรือประชาสัมพันธ์นั้นให้เพิ่มภาษาที่ครอบคลุม กับนักท่องเที่ยวประเทศที่จะเปิดให้เดินทางเข้ามาด้วย
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในช่วงการเปิดระยะแรก จะมีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ที่ 10,000 คน/วัน หรือประมาณ 20 % เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 50,000 คน/วัน ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบันมี ผู้โดยสารรวมประมาณ 1,000 คน/วัน
และหากรวมสนามบินทั้ง 6 แห่งเปิดประเทศคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว นักเดินทางกลับเข้ามา ประมาณ 20%หรือมีไม่ต่ำกว่า 40,000 คนต่อวัน ซึ่งจะดู SLOT การบินอีกครั้ง เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นด้วย คาดว่า นักท่องเที่ยวจากยุโรปจะสนใจเดินทางเข้ามา
ขณะเดียวกัน จากการรายงานของสนามบินดอนเมือง พบว่าหากรัฐบาลต้องการเกิดความคล่องตัวในการดำเนินการนั้นอาจจะให้พิจารณารับผล SWAP ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน72 ชั่วโมง และหลักฐานการรับวัคซีนครบ 2 โดสมาใช้เป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้น ส่วนหลักประกันอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะกำหนดที่ 50,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 100,000 เหรียญสหรัฐฯ รวมถึงการพิจารณาการขึ้นรถเดินทางไปยังโรงแรมที่พัก เสนอว่า ควรจะมีการติดตั้งแผ่นอะคริลิกใสเพื่อกันระหว่างผู้ขับรถ กับผู้โดยสาร จากนั้นเมื่อไปถึงที่พัก ถึงเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อในรูปแบบ ATK หรือ RT-PCR ต่อไปทั้งนี้ เพื่อลดความหนาแน่นบริเวณท่าอากาศยาน
นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ท่าอากาศยานดอนเมืองจัดทำลูกศรและป้ายประชาสัมพันธ์ เพื่อบอกเส้นทางแก่นักท่องเที่ยวภายในอาคารผู้โดยสารด้วย ก่อนที่จะมีการสรุปการเตรียมความพร้อมในวันที่ 27 ต.ค. 2564 พร้อมทั้งนำข้อเสนอต่างๆไปหารือกับที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อนำไปสู่ข้อปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในส่วนของขาออกจากประเทศนั้นมอบหมายให้ประสานงานกับประเทศปลายทางถึงขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้สายการบินที่ประเทศต้นทางดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนการเดินทาง ขณะที่ ผู้โดยสารภายในประเทศนั้น จะใช้มาตรฐานเดียวกัน คือ ก่อนการซื้อตั๋วโดยสาร จะต้องแสดงหลักฐานหรืออกสารการได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว และมีการตรวจ SWAP ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยในการเดินทาง
ทั้งนี้ นโยบายการเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรี ซึ่งผ่านที่ประชุมศบค. เพื่อต้องการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว และเพิ่มกำลังการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศไทย
โดยระยะแรก วันที่ 1 พ.ย. 2564 มีเงื่อนไขการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว และมีการตรวจ SWAP ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทางประกอบกับได้มีการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนชาวไทย และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย มีปริมาณเพียงพอ หรือ120 ล้านโดสในปี 2564 และอีกกว่า 60 ล้านโดสในปี 2565
สำหรับนโยบายการเปิดประเทศดังกล่าว จะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ คือ 1 พ.ย. 2564 จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาจากประเทศต้นทางที่ประเมินว่า มีความเสี่ยงต่ำ ให้สามารถเดินทางทางอากาศเข้ามายังประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ในเบื้องต้นคาดว่าจะมี 10 ประเทศ เช่น อังกฤษ จีนเยอรมัน สิงคโปร์ เป็นต้น ก่อนที่จะขยายผลไประยะที่ 2 ในช่วงธ.ค. 2564 และระยะที่ 3 ช่วง ม.ค. 2564 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม จะนำบทเรียนของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มาปรับปรุงแก้ไข และประยุกต์ใช้กับอีก 5 ท่าอากาศยาน ทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวกสบาย รวมถึงมาตรการด้านความปลอดภัยทางสาธารณสุข