นายอธิป พีชานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทยและสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาสภาหอการค้าไทยได้ยื่นหนังสือเสนอแนะไปอีกครั้ง ทำให้ ธปท.เริ่มเห็นภาพว่าภาคธุรกิจอสังหาฯถึงจุดตกต่ำอย่างแท้จริง โดยหมดยุคเก็งกำไรไป 2 ปีแล้ว ธปท.จึงได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมและปรึกษาหารือร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องจนนำมาสู่การออกมาตรการดังกล่าว
"การที่ ธปท.ออกมาตรการครั้งนี้มา ก็ดีกว่าไม่ออกมาตรการอะไรออกมาช่วยเลย แต่ก็ต้องรอดูว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวหรือไม่ เพราะกำลังซื้ออยู่ในช่วงถดถอย ดีมานด์ไม่มี เงินรายได้ยังไม่เข้ามา เพราะมีการเลิกจ้างงาน แต่ก็ว่าคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในปลายปีนี้ไปจนถึงปีหน้า แม้จะไม่เต็ม 100% เหมือนในช่วงที่ผ่านมา
อย่าคาดหวังว่าจะดีขึ้นอย่างฉับพลัน เพราะไม่ดีขึ้นเหมือนในอดีต แต่ก็จะช่วยระบายสต็อกที่สร้างเสร็จแล้วได้ จนถึงปลายปีอาจจะช่วยระบายได้พอสมควร โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯจะช่วยให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะมีพื้นที่เหลือขายและมีสต็อกอยู่มาก จะทำให้ดีมานด์กล้าซื้อมากขึ้น"นายอธิป กล่าว
ในส่วนธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันเข้มงวดการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว เพราะหลายธุรกิจมีความเสี่ยงเพิ่มจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกระทบกับผู้บริโภค แต่จากมาตรการดังกล่าวของ ธปท.จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ขยายวงเงินสินเชื่อจากเดิมที่จำเป็นต้องดาวน์ 20% สำหรับบ้านที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งต้องรอดูปี 65 อีกครั้งคาดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น และสามารถจัดงานส่งเสริมการขายได้ดีขึ้น เช่น การจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโดฯ
นอกจากนี้ ในนามสภาหอการค้าฯ เตรียมหารือกับผู้ประกอบการทั้ง 3 สมาคม คือ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย เพื่อทำหนังสือถึงภาครัฐในเร็ว ๆ นี้เสนอขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนอง ที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เหลือรายการละ 0.01% ที่จะสิ้นสุดในปลายปี 64 ไปเป็นปี 65 และผลักดันให้ปรับเงื่อนไขให้รวมไปถึงที่อยู่อาศัยระดับราคาสูงขึ้นไปเป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อขยายตลาดและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น
นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย (SPALI) กล่าวว่า การผ่อนคลายมาจรการ LTV มองว่าเป็นเรื่องดีต่ออสังหาริมทรัพย์ในภาพรวม ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสขายที่อยู่อาศัยได้คล่องตัวขึ้น และทำให้สามารถซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้เพิ่มขึ้น เพราะยังมีคนจำนวนมากที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง รวมทั้งจะทำให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารได้ง่ายมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่บวกต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งผู้ประกอบการเอง ธนาคารที่ให้สินเชื่อ และผู้ที่อยากมีบ้าน
ในแง่ของผู้ประกอบการมีโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้นจากข้อจำกัดที่ลดลง และทำให้ปริมาณซัพพลายของที่อยู่อาศัยในระบบถูกดูดซับออกไป การที่ ธปท.ผ่อนคลายมาตรการ LTV ในครั้งนี้ ถือเป็นการช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาฟื้นตัวขึ้นได้ หลังจากที่เผชิญกับปัจจัยกดดันมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้สังคมมีความมั่นคงมากขึ้น
"เป็นเรื่องดีต่อภาคอสังหาฯที่แบงก์ชาติผ่อนคลาย LTV ก็ช่วยให้คนที่อยากมีบ้านสามารถซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น ผู้ประกอบการเองก็ขายที่อยู่อาศัยได้เพิ่มมากขึ้น เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และทำให้คนไทยมีบ้านเป็นของตัวเอง สังคมก็มั่นคง ซึ่งมองว่าการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ในครั้งนี้แบงก์ชาติน่าจะมองว่า NPL ในระบบคงไม่มีปัญหามาก จึงผ่อนคลายเกณฑ์ลงมา ซึ่งเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ" นายประทีป กล่าว
นางสาวอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ริชี่ เพลซ 2002 (RICHY) กล่าวว่า การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จะเป็นปัจจัยหนุนต่อการขายที่อยู่อาศัย เพราะทำให้ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นจากข้อจำกัดที่ลดลงไป และทำให้ปริมาณซัพพลายในตลาดถูกดูดซับออกไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดมิเนียมที่ยังมีซัพพลายในตลาดในระดับสูง
นอกจากนั้น ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยลดแรงกดดันให้กับผู้ประกอบการได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะทำให้มีความมั่นใจในการทำธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย อีกทั้งยังกระตุ้นผู้ซื้อให้กลับมาซื้อที่อยู่อาศัยได้ค่อนข้างมากหลังจากภาวะเศรษฐกิจยังชะลอตัวอยู่บ้าง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งเช่นเดียวกัน
นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP) กล่าวว่า เป็นสัญญาณบวกที่ดีให้กับตลาด ทำให้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะผ่อนคลายมาตรการ LTV สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาเป็น 100% ถึงสิ้นปีหน้าเท่ากับเป็นการเพิ่มความสามารถในการซื้อให้กับลูกได้มากขึ้น รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เพราะจะเกิดการจ้างงานจำนวนมาก ถือว่าเป็นการนำมาสู่โอกาสที่ดีอีกมากที่จะเกิดขึ้นได้ในระยะต่อไป