นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาในงาน Thailand InsurTech Fair 2021 ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในหลายมิติต่อภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมประกันภัยก็ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทในการบริหารความเสี่ยงด้านสังคม ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และเพียงพอต่อความต้องการของคนไทยและต่างชาติ รวมทั้งได้มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
"จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย โดยเฉพาะประกันชีวิต และประกันสุขภาพ ซึ่งพบว่าช่วงที่ผ่านมา มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทั้งในระดับครัวเรือน และระดับผู้ประกอบการ" รมว.คลัง กล่าว
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมประกันภัย ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินภายในประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการระดมเงินทุนจากผู้มีเงินออม เพื่อสร้างหลักประกันในชีวิตในระยะยาว รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน และช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทั้งจากปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้ง โดยมองว่าหลังจากนี้อุตสาหกรรมประกันภัยต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ภายใต้ 6 แนวทาง ได้แก่
1. อุตสาหกรรมประกันภัย ต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อความสะดวกสบายของผู้รับบริการ ช่วยลดภาระการเดินทาง และลดภาระในเรื่องต้นทุนต่าง ๆ
2. อุตสาหกรรมประกันภัย ต้องขยายบทบาทการรับประกันภัยที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งธุรกิจประกันภัย ต้องมองเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
3. อุตสาหกรรมประกันภัย ต้องตอบสนองเรื่องหลักประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากในปี 2565 จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จึงจำเป็นจะต้องมีหลักประกันที่มีผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างบั้นปลายชีวิต
4. อุตสาหกรรมประกันภัย ต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันที่ครอบคลุมการรับประกันโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เป็นสาธารณะ เช่น สนามบิน ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น โดยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ควรมีการทำประกันวินาศภัย หรือประกันในรูปแบบต่าง ๆ รองรับ
5. อุตสาหกรรมประกันภัย ต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG) และกรอบการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)
6. อุตสาหกรรมประกันภัย ต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างแม่นยำ เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้
รมว.คลัง คาดหวังว่าอุตสาหกรรมประกันภัย จะเป็นกลไกหลักสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัว และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ มั่นคงจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ช่วยลดปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากผ่านการเข้าถึงประกันภัยอย่างเท่าถึงและเพียงพอ