นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนก.ย.64 ว่า การส่งออกของไทย เดือนก.ย. มีมูลค่า 23,036 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 17.1% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 22,426 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 30.3% ส่งผลให้ในเดือนนี้ไทยเกินดุลการค้า 610 ล้านดอลลาร์
ขณะที่การส่งออกของไทยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. - ก.ย.) มีมูลค่ารวม 199,997 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.5% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวม 197,980 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรก ไทยเกินดุลการค้า 2,017 ล้านดอลลาร์
การส่งออกของไทยเดือนก.ย. 64 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกในเดือนก.ย. 64 ก็ยังขยายตัวได้ 14.8% โดยการส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย จากภาคการผลิตที่ฟื้นตัว การกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 และการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้ดี
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับสินค้าสำคัญใน 5 อันดับแรก ที่ช่วยผลักดันการส่งออก ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัว 114.4% ยางพารา ขยายตัว 83.6% เคมีภัณฑ์ ขยายตัว 55.8% เม็ดพลาสติก ขยายตัว 40.3% และคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 22.6%
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ 12.9% คิดเป็นมูลค่า 1,963 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ยางพารา 83.6% ลำไยสด 73.8% มะม่วงสด 55.9% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 44.4% และข้าว 33.8%
ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ 12.1% คิดเป็นมูลค่า 1,714 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ยางพารา 83.6% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 44.4% ข้าว 33.8% ผลไม้กระป๋อง/แปรรูป 29.3% และอาหารสัตว์เลี้ยง 23.6%
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ 15.8% คิดเป็นมูลค่า 18,424 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัว 61%, เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 38.7%, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ ขยายตัว 32.8%, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 22.6% และแผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 16.3%
ด้านตลาดส่งออกของไทยนั้น พบว่าการส่งออกไปยังตลาดใหม่สามารถขยายตัวได้ดี นำโดยตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 69% ตลาดรัสเซีย และกลุ่ม CIS ขยายตัว 42.5% ตลาดแอฟริกา ขยายตัว 30.2% เป็นต้น ส่วนตลาดส่งออกหลักที่สำคัญ ยังขยายตัวได้ทุกตลาดเช่นกัน โดยตลาดสหรัฐ ขยายตัว 20.2% ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 13.2% และตลาดยุโรป ขยายตัว 12.6%
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เหตุผลที่การส่งออกของไทยในเดือนก.ย. ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งปัญหาภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์นั้น มาจาก 5 ปัจจัยสำคัญ คือ
1.แผนส่งเสริมการส่งออกที่ได้กำหนดไว้ถึง 130 กิจกรรมในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนผู้ส่งออก ผ่านกลไก กรอ.พาณิชย์
2. ภาพรวมเศรษฐกิจการค้าโลกเริ่มดีขึ้น โดยล่าสุด องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การค้าโลกปีนี้เป็น 10.8% จากเดิมที่ 8%
3.เงินบาทยังอ่อนค่า ซึ่งช่วยสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันด้านราคาให้กับสินค้าส่งออกของไทย
4.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
5.ศักยภาพของเอกชนผู้ส่งออกยังมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ที่แม้ต้องเจอกับปัญหาล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ยังสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว