นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 1 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อนำเสนอความเป็นมาและวัตถุประสงค์ ขอบเขตการศึกษาภาพรวมของโครงการ ตลอดจนแนวทางการลงทุนและความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนของภาคเอกชน และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและจัดทำโครงการ ให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากนักลงทุนภาคเอกชน สถาบันทางการเงิน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการสัมมนา
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดแผนการเดินรถเบื้องต้นที่ตอบสนองความต้องการในการเดินทาง ครอบคลุมการเดินรถไฟทุกประเภทของ รฟท. ที่จำเป็นจะต้องใช้ทางวิ่งร่วมกัน โดยพิจารณาการจัดช่วงการเดินรถ (Time Slot) เพื่อไม่เกิดความซ้ำซ้อน โดยแบ่งรูปแบบการเดินรถไปตามลักษณะการดำเนินโครงการเป็น 3 ระยะ ได้แก่
-ระยะที่ 1 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยรูปแบบการเดินรถของโครงการจะมีช่วงที่ให้บริการขนานกับเส้นทางการเดินรถของ รฟท. ในส่วนของรถธรรมดาและรถชานเมืองบริเวณช่วงสถานีดังกล่าว
-ระยะที่ 2 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง โดยในระยะการเปิดส่วนต่อขยายช่วงต่างๆ อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินรถชานเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ ของ รฟท. บางส่วนในช่วงสถานีที่ให้บริการซ้ำซ้อนกับสถานีของโครงการ หรืออาจจะจอดให้บริการที่สถานีเชื่อมต่อหลักเท่านั้น
-ระยะที่ 3 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ การเดินรถจะเป็นการให้บริการระบบรถไฟชานเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเต็มรูปแบบ โดยมีสถานีศูนย์กลางร่วมกับ รฟท. ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งโครงการจะมาช่วงต่อการให้บริการรถชานเมืองจากการรถไฟฯ ทั้งหมด
ส่วนมูลค่าการลงทุนในโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โครงการได้พิจารณารวมค่าผันผวนของแหล่งเงิน และปรับปรุงมูลค่าการลงทุนในโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ทั้ง 6 เส้นทาง โดยมีมูลค่าการลงทุน ดังนี้
-มูลค่าลงทุนงานโยธางานระบบ และจัดหาขบวนรถ สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ลงทุนไปแล้ว 108,833.01 ล้านบาท ส่วนที่กำลังจะลงทุนอีก 79,322.57 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก, ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช รวมมูลค่าทั้งสิ้น 188,155.58 ล้านบาท
-มูลค่าลงทุนการดำเนินงาน และบำรุงรักษา กำลังจะลงทุน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน, ช่วงบางซื่อ-รังสิต, ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก, ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช รวมมูลค่าทั้งสิ้น 131,073.74 ล้านบาท
-มูลค่าลงทุนงานเพิ่มเติม กำลังจะลงทุน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน, ช่วงบางซื่อ-รังสิต, ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก, ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช รวมมูลค่าทั้งสิ้น 21,044 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาการประมาณการผู้โดยสาร (Ridership Forecast) ในระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ทั้ง 6 เส้นทาง เช่น ในปี 65 จะมีจำนวนผู้โดยสาร 99,060 คน/เที่ยว/วัน, ในปี 75 จะมีจำนวนผู้โดยสาร 500,400 คน/เที่ยว/วัน และในปี 90 จะมีจำนวนผู้โดยสาร 730,000 คน/เที่ยว/วัน เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการได้ดำเนินการศึกษา ทบทวน วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยผลการวิเคราะห์แสดงสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมระหว่างรัฐและเอกชน ดังนี้
1. ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สัดส่วนการลงทุนรัฐ 100 %
2. ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัดส่วนการลงทุนรัฐ 100 %
3. ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36 % และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%
4. ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36 % และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%
5. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36 % และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%
6. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36 % และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%
ทั้งนี้ หากพิจารณาระยะเวลาร่วมลงทุน 50 ปี (ปี 2567-2617) ในกรณีที่ดีที่สุดของรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มีผลตอบแทนโครงการ (IRR) 8.62% NPV (มูลค่าปัจจุบัน) 9,670.51 ล้านบาท และมีระยะคืนทุน 29 ปี ขณะที่หากพิจารณาการร่วมลงทุน 30 ปี (ปี 2567-2597) กรณีที่ดีที่สุดของรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มี IRR ที่ 3.92% NPV (883.88) ล้านบาท และมีระยะคืนทุนมากกว่า 30 ปี
ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า จากการประเมินค่าโดยสารที่มีเพดานสูงสุดที่ 42 บาท/เที่ยว โดยเริ่มต้น 12 บาท บวก 2.10 บาท/กม. และปรับขึ้นค่าโดยสารทุกๆ 2 ปีครั้งละ 3% โดยประเมินว่าหากได้สัมปทาน 30 ปี จะมีรายได้ 32,183 ล้านบาท และหากได้สัมปทาน 50 ปี จะมีรายได้ 91,455 ล้านบาท
นอกจากนี้ โครงการจะดำเนินการวิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน และเอกชนที่เหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน โดยมีรูปแบบให้ผลตอบแทนแก่เอกชน แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
1. Net Cost คือ เอกชนจัดเก็บรายได้ ดำเนินการเดินรถ และซ่อมบำรุง และเอกชนจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐ หรือรับเงินสนับสนุน
2. Gross Cost คือ รัฐจัดเก็บรายได้ ส่วนเอกชนดำเนินการเดินรถ และซ่อมบำรุง และรัฐจะจ่ายค่าเดินรถอัตราคงที่ และ
3. Modified Gross Cost คือ รัฐจัดเก็บรายได้ ส่วนเอกชนดำเนินการเดินรถ และซ่อมบำรุง และรัฐจะจ่ายค่าเดินรถอัตราคงที่ รวมทั้งโบนัส
หลังจากนี้ รฟท.จะทำ Market Sounding ครั้งที่ 2 ในเดือน เม.ย.65 และคาดว่ารายงานผลการศึกษาจะแล้วในกลางปี 65 และคาดว่าจะออกทีโออาร์ได้ในกลางปี 65 โดยกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนจะใช้ระยะเวลาประมาณ 14 เดือน เมื่อได้เอกชนเข้าร่วมลงทุน จะให้เดินรถแทน รฟท.ในเส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิตทันที
ส่วน 4 เส้นทางที่เหลือจะทยอยก่อสร้าง ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก จะใช้เวลาก่อสร้าง 54 เดือน