นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยการจดทะเบียนธุรกิจเดือนก.ย.64 ว่า
- ธุรกิจจัดตั้งใหม่
ในเดือนก.ย. 64 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศจำนวน 5,820 ราย เพิ่มขึ้น 3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่มียอดจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ 5,636 ราย และเพิ่มขึ้น 5% จากเดือน ส.ค.64 ที่มียอดจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ 5,553 ราย โดยในเดือน ก.ย.นี้ มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 13,973.77 ล้านบาท
สำหรับประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 680 ราย คิดเป็น 12% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 248 ราย คิดเป็น 4% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร จำนวน 188 ราย คิดเป็น 3%
ขณะที่ในไตรมาสที่ 3/64 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 17,034 ราย เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาสที่ 3/63) และลดลง 3% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 2/64)
- ธุรกิจเลิกประกอบกิจการ
ในเดือน ก.ย.64 มีจำนวน 1,503 ราย ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 4% ที่มีธุรกิจเลิกประกอบกิจการ 1,568 ราย แต่เพิ่มขึ้น 28% จากเดือน ส.ค.64 ที่มีธุรกิจเลิกกิจการ 1,176 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 5,764.59 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 114 ราย คิดเป็น 8% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 94 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 49 ราย คิดเป็น 3%
ส่งผลให้ปัจจุบัน ยังมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้นทั่วประเทศ (ณ วันที่ 30 ก.ย. 64) 810,509 ราย มูลค่าทุน 19.41 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 197,398 ราย คิดเป็น 24.35% บริษัทจำกัด จำนวน 611,799 ราย คิดเป็น 75.48% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,312 ราย คิดเป็น 0.16%
ขณะที่ในไตรมาสที่ 3/64 การจดทะเบียนเลิกธุรกิจมีจำนวน 3,819 ราย ลดลง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาสที่ 3/63) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 2/64) เพิ่มขึ้น 56%
นายทศพล กล่าวว่า การลดลงของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนการจดทะเบียนเลิกธุรกิจในไตรมาสที่ 3 นั้น หากพิจารณาจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในไตรมาสที่ 3/64 ในบางธุรกิจสอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธุรกิจสร้างแม่ข่าย มีจำนวนจัดตั้งใหม่ 172 ราย เพิ่มขึ้น 6 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาสที่ 3/63) และธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ มีจำนวนจัดตั้งใหม่ 44 ราย เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาสที่ 3/63)
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลของรัฐ นำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรค ควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบัน การปลดล็อกกัญชงให้สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ครอบครอง และจำหน่ายได้ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าการบริโภคสมุนไพรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการที่มองเห็นช่องทางในการปรับเปลี่ยนธุรกิจจึงหันมาจัดตั้งธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรบมาตรการล็อกดาวน์ และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศที่เพียงพอ รวมทั้งนโยบายการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นที่ดีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ผู้ประกอบธุรกิจจึงควรปรับตัว และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
นายทศพล ยังกล่าวถึงการลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวว่า ในเดือน ก.ย.64 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 60 ราย เพิ่มขึ้น 15% จากเดือนส.ค.64 ที่มี 52 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 29 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 31 ราย มีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,864 ล้านบาท
โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 16 ราย เงินลงทุน 478 ล้านบาทรองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 8 ราย เงินลงทุน 162 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 145 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) มีคนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในไทย จำนวน 376 ราย คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 50,602 ล้านบาท