(เพิ่มเติม) คลัง ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้เหลือโต 1% ก่อนฟื้นโต 4% ในปี 65

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 28, 2021 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) คลัง ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้เหลือโต 1% ก่อนฟื้นโต 4% ในปี 65

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 64 จะขยายตัวที่ 1.0% (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.5 - 1.5%) จากเดิมที่คาดโต 1.3% ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 64 จะชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรก จากมาตรการควบคุมโรคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง

ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปีนี้ จะหดตัว -3.5% เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ แต่เชื่อว่าในไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นขึ้นมาได้ที่ 3% จากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่เข้ามาเสริม รวมถึงแผนการเปิดประเทศในเดือนพฤศจิกายน

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดมีทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับความคืบหน้าในการจัดหาและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชน ทำให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดลง รวมทั้งได้มีแผนการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 64 เป็นต้นไป จะส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ภาคการขนส่ง ธุรกิจพักผ่อนหย่อนใจและบันเทิงรวมถึงภาคธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4.0% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.0 - 5.0%) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปี 64 การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 0.8% และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.0% ในส่วนของการส่งออกสินค้า มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามปัญหาห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain Disruption) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในระยะถัดไป โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 64 จะขยายตัว 16.3%

นอกจากนี้ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย ผ่านการดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่องอาทิโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และมาตรการด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท (พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม) ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคบรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัว 3.8% และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 8.1%

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 64 จะอยู่ที่ 1.0% ต่อปี เนื่องจากภาครัฐมีการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ และปัจจัยด้านอุปทานส่วนเกิน ส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดอาหารสดลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล -18.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น -3.7% ของ GDP จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลง และการขาดดุลบริการเป็นสำคัญ

นายพรชัย กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปี 65 ว่า กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 4.0% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.0-5.0%) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงและมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 7 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 3.8% ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศ ส่วนการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 4.2%

สำหรับสมมติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 64 และ 65 มาจาก 5 ด้านหลัก ประกอบด้วย

1. อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศที่เริ่มคลี่คลายลง และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในปี 64 จะขยายตัวได้ 5.4% ส่วนปี 65 ขยายตัวได้ 4.8%

2. อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทในปี 64 มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากปีก่อน มาอยู่ที่ 31.93 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่ในปี 65 คาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่ามาอยู่ที่ 32.70 บาท/ดอลลาร์ โดยได้รับอิทธิพลจากการอ่อนค่ามากในช่วงปลายปี 64 และจะทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก

3. ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 64 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 69.4 ดอลลาร์/บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่มีทิศทางฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับการรักษาระดับการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส ขณะที่ในปี 65 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย มาอยู่ที่ 68.6 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังอุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกพลัส ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบ

4. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าในปี 64 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.8 แสนคน และจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 อีกประมาณ 1 แสนคน ตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 64 ขณะที่ในปี 65 คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคน โดยส่วนใหญ่มาจากอาเซียน ยุโรป และสหรัฐ ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนคาดว่าจะเริ่มเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี 65

5. รายจ่ายภาคสาธารณะ โดยคาดว่ารายจ่ายภาคสาธารณะปี 64 จะเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.04 ล้านล้านบาท เป็นผลจากเม็ดเงินของรายจ่ายปีงบประมาณ 64 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และ พ.ร.ก.กู้เงินฯ เป็นสำคัญ ขณะที่ในปี 65 รายจ่ายภาคสาธารณะ คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ อยู่ที่ 4.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะด้านการลงทุนที่คาดว่าจะกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติ

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐ ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องโดยในปี 65 ภาครัฐมีเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท รวมทั้งเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าการบริโภคภาครัฐ จะขยายตัว 1.1% และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 5% ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.4% ปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบัน และที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ซึ่งอาจจะลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน 2) ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain Disruption) และการขนส่งระหว่างประเทศ 3) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น และ 4) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน และนโยบายการเงินของประเทศสำคัญในระยะต่อไปที่มีแนวโน้มที่ตึงตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปการประสานนโยบายการคลังและการเงิน จะมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยกระทรวงการคลังจะมีการติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีตลอดจนเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟู และยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สอดคล้องกับบริบทของการปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ