นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เผยที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้น และกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ซึ่งเป็นโครงการขนาดกลางที่มีมูลค่า 4,374 ล้านบาท ถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 แบบเต็มรูปแบบ เนื่องจากรัฐมีสัดส่วนการลงทุนในโครงการอยู่ในระดับสูง และโครงการอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของอุตสาหกรรมการบินในภาพรวม ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำและดำเนินโครงการดังกล่าวในขั้นตอนต่อไปเป็นไปด้วยความโปร่งใสและมีความรอบคอบ
ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งประกาศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562) ในขั้นตอนของการคัดเลือกเอกชน
โดยกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดให้มีการดำเนินการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมในโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าพันล้านบาทขึ้นไป หรือโครงการร่วมลงทุนที่คณะกรรมการ PPP พิจารณาเห็นสมควรโดยในชั้นของการคัดเลือกเอกชน จะมีผู้สังเกตการณ์ที่มีความรู้ความสามารถและไม่มีส่วนได้เสียกับโครงการ ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากหน่วยงานที่ สคร.มอบหมายเข้าร่วมสังเกตการณ์ตั้งแต่ในขั้นตอนการจัดทำร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อรายงานผลการดำเนินงานตามข้อตกลงคุณธรรม ประกอบการนำเสนอผลการคัดเลือกเอกชนให้กระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ การนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาปรับใช้กับโครงการร่วมลงทุนจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการดำเนินโครงการ รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์สำคัญของการร่วมลงทุนตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ และยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังได้มอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัด หน่วยงานเจ้าของโครงการ และ สคร.ทำหน้าที่เร่งรัดโครงการในกลุ่มที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) ภายใต้แผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2563-2570 ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาและแล้วเสร็จตามกำหนด เพื่อกระตุ้นการลงทุนของประเทศในภาพรวม ลดข้อจำกัดการลงทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้ รวมทั้งสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น