ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ต.ค.64 เพิ่มขึ้นจากระดับ 42.6 มาอยู่ที่ 47.0 จากการปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นด้านต้นทุนที่ความเชื่อมั่นลดลงตามราคาปัจจัยการผลิตและค่าขนส่งที่อยู่ในระดับสูง จากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่คลี่คลายประกอบกับราคาน้ำมันเร่งสูงขึ้น
การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติมจากเดือนก่อนส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและปริมาณการผลิตปรับดีขึ้นชัดเจน โดยดัชนีฯ เกือบทุกหมวดธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น นำโดยกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มผลิตยานยนต์ ส่วนหนึ่งจากการเร่งผลิตเพื่อชดเชยช่วงที่หยุดผลิตชั่วคราวเพื่อให้ทันคำสั่งซื้อที่ทยอยกลับมา
สำหรับภาคที่มิใช่การผลิตความเชื่อมั่นของธุรกิจขนส่งผู้โดยสารปรับดีขึ้นมาก โดยเฉพาะด้านการจ้างงานที่ดัชนีฯ กลับมาอยู่สูงกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนถึงการจ้างงานที่เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ดัชนีฯ รวมยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50
ขณะที่ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52.5เหนือระดับ 50 ได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบและเกือบทุกหมวดธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์รวมถึงกลุ่มผลิตอาหารที่ความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้นมาก
สำหรับภาคที่มิใช่การผลิตดัชนีฯ ของธุรกิจส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นและอยู่เหนือระดับ 50 ได้ต่อเนื่อง ยกเว้นกลุ่มอสังหาฯ และก่อสร้างที่ความเชื่อมั่นยังอยู่ในระดับต่ำจากความกังวลด้านต้นทุนเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ แม้ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อจะปรับดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนยังลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจยังคงเผชิญกับภาวะสภาพคล่องตึงตัว สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่องทั้งในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 50
ต้นทุนการผลิตสูงยังคงเป็นข้อจำกัดอันดับแรกสำหรับการดำเนินธุรกิจติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่กำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอ ส่งผลให้ความกังวลด้านการปรับราคาสินค้าทำได้ยากมีมากขึ้น
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.8% ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ 1.9% ในเดือนนี้