นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้เข้าร่วมการประชุมของผู้นำประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ ออสเตรเลีย, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา รวม 9 การประชุม ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 ระหว่างวันที่ 26-28 ต.ค. 64 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย
การประชุมครั้งนี้ ทุกประเทศได้ย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกันทางด้านสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสร้างความยั่งยืนของภูมิภาค ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์โดยยังคงรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน นอกจากนี้ กลุ่มประเทศที่เข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อาทิ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ย้ำถึงความสำคัญในการให้ประเทศสมาชิกเร่งให้สัตยาบันโดยเร็ว เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมกราคม 2565 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตระหว่างกัน
สำหรับการเร่งรัดความตกลง RCEP ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว การยกระดับความตกลงให้ทันสมัย และเปิดกว้างมากขึ้น และการเร่งเปิดเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าใหม่ๆ เช่น แคนาดา รวมถึงการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ MSMEs Start-up และห่วงโซ่การผลิต ถือเป็นนโยบายสำคัญของรมว.พาณิชย์ เน้นย้ำ และติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าไทยในตลาดโลก ผ่านการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งจะส่งผลดีกับภาคการผลิต ทั้งสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรม และกลุ่มธุรกิจการส่งออก ให้สามารถส่งออกสินค้า และบริการที่มีศักยภาพของไทยไปตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น และยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย
"การประชุมระดับสูงสุดครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จของอาเซียน ที่ผู้นำของประเทศคู่เจรจาเห็นความสำคัญของอาเซียนที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง พร้อมทั้งต้องการกระชับ และขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาเซียนให้มากขึ้น เช่น เร่งการเจรจาเพื่อยกระดับเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัยและเปิดกว้าง ทั้งอาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, อาเซียน-จีน และอาเซียน-เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น และสามารถฟื้นฟูภูมิภาคหลังวิกฤตโควิด-19 ได้โดยเร็ว" นายสรรเสริญ กล่าว
นอกจากนี้ ประเทศคู่เจรจายังพร้อมที่จะร่วมมือ และสนับสนุนอาเซียนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่างๆ ที่จะมีแนวโน้มต่อรูปแบบการค้าและเศรษฐกิจโลกในอนาคต โดยเฉพาะการรับมือเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) เศรษฐกิจดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) และการค้าที่ยั่งยืน
ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 64) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 81,384.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับการค้าไทยกับกลุ่มประเทศ RCEP มีมูลค่า 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
นายจุรินทร์ กล่าวว่า คาดว่าต้นปีหรือเดือนมกราคม 2565 ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ในประเทศสมาชิก 15 ประเทศต่อไป ซึ่งจะทำให้ RCEP กลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันถึง 2,300 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรโลก และทำให้กลุ่มประเทศ RCEP มีจีดีพี 33.6% ของจีดีพีโลก หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก มูลค่าการค้าประมาณ 30% ของมูลค่าการค้าโลก ถ้ามีผลบังคับใช้ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากความตกลง RCEP ที่เป็นรูปธรรม คือ สมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที 29,891 รายการ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้า ปรับพิธีการศุลกากรให้รวดเร็ว มีการคุ้มครองและอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการลงทุนและธุรกิจบริการไทย - ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภายนตร์และบันเทิง และการขยายห่วงโซ่การผลิต อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบจาก 15 ประเทศ RCEP มาผลิตและส่งออกไปตลาด RCEP โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหารจัดการ