สุพัฒนพงษ์ ชูแนวทาง 4D สร้างโอกาสประเทศไทย หนุนเศรษฐกิจปี 65 ฟื้นโต 5-6%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2021 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "Boost Up ทุบโจทย์ใหม่เศรษฐกิจไทย" ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบาก เป็นช่วงที่รัฐบาลต้องทำงานแข่งกับเวลาในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน พร้อมกับพยายามรักษาให้เศรษฐกิจยังคงเดินหน้า ให้การดำเนินธุรกิจส่งออกไปได้ด้วยดี และสามารถรักษาการผลิตไว้ได้ และไม่เลิกล้มเดินหน้าเรื่องการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งมีจำนวนคืนพัก เกือบล้านคืน พร้อมกับมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย และวันนี้เป็นช่วงเวลาที่พูดถึงเรื่อง Boost Up ประเทศไทย

นายสุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่า อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศอาจะไม่สูงถึง 4% อย่างที่เคยพูดไว้ แต่สภาพความพร้อมของประเทศยังเข้มแข็ง และถือเป็นเริ่มต้นใหม่อีกครั้งด้วยความมั่นใจและความเข้าใจในการปฏิบัติตัวตามมาตรการทางสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า วันนี้ยังสามารถรักษาสภาพความเข้มแข็งทางการเงินการคลังของประเทศในระดับที่ได้ดีพอสมควรไม่น้อยหน้าประเทศอื่น ซึ่งจากการจัดอันดับของมูดี้ส์ปีล่าสุด ยังยืนยันว่า เสถียรภาพของประเทศยังคงที่และมองไปในอนาคตเสถียรภาพเหมือนเดิม

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงแนวทาง 4D ในการพลิกโฉมประเทศไทยว่า ในส่วนของ Digitalization คือ การส่งเสริมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อุตสาหกรรมดิจิทัลที่จะเข้ามา ซึ่งอินฟราสตัคเจอร์ของไทย เรื่องของ 5G ไทยมีความพร้อม และสิ่งสำคัญในช่วงการแพร่ระบาดโควิด รัฐบาลได้มีการทดลองการเยียวยาให้กับประชาชนเกือบ 50 ล้านคนผ่านระบบหรือแพลตฟอร์มที่รัฐบาลได้เตรียมไว้ ถือเป็นความพร้อมของประเทศไทย จนเป็นที่เล็งเห็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อยากเห็นประเทศไทยเป็นHub ดิจิทัล โดยเฉพาะธุรกิจ คลาวด์ เซอร์วิส และดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งวันนี้อยู่ระหว่างการหารือเรื่องกฏ กติกาและเรื่องภาษีต่างๆ หากได้ข้อสรุปจะเห็นการลงทุนใหญ่ ซึ่งเป็นฐานสำคัญให้ธุรกิจด้านนี้รวดเร็วมากขึ้น

สำหรับเรื่อง Decarbonization หรือการมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะ ซึ่งล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ไปประกาศที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ที่ประเทศไทยจะก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 รวมถึงการส่งเสริมเรื่องรถยานยนต์ประจุไฟฟ้า ซึ่งภายในเดือนธันวาคมนี้ นโยบายเรื่องยานยนต์ประจุไฟฟ้าจะได้ข้อสรุปและนำเสนอเข้าที่ประชุมครม.ต่อไป เพื่อให้ความมั่นใจว่า ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์

สำหรับ เรื่อง D-risk ซึ่งในอนาคตคนจะแสวงหาประเทศที่น่าอยู่ในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวระยะสั้น และมีนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน สร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลพยายามพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีฐานะและมีคุณภาพ แม้นักท่องเที่ยวจะลดลงแต่ต้องสามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้น และเพิ่มระยะเวลาในการพำนักในประเทศไทยในนานขึ้น

ส่วน Decentralization นั้น ประเทศไทยได้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานมาต่อเนื่องตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนช่วยในการดึงดูดการย้ายฐานของอุตสาหกรรมใหม่ และเริ่มเห็นผลกลางปีนี้ ซึ่งในเดือนก.ย.ตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุนปี 64 อยู่ที่ 5.2 แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวปี 63 อยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาท และคาดว่า สิ้นปี 64 คำขอส่งเสริมการลงทุนน่าจะอยู่ที่ 6 แสนกว่าล้านบาท

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลพยายามทำเต็มที่ ปฏิบัติเชิงรุกไม่ได้หยุดแข่งกับเวลา ระบบนิเวศต่างๆมีความพร้อม ระบบนิเวศใหม่สะท้อนกระแสโลก พลิกโฉมโครงสร้างของประเทศ ขอเพียงให้ทุกคนเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย เราไม่หยุดเดินหน้า ชักจูง ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ ฝากผู้ประกอบการไทยให้ความเชื่อมั่น ต่อยอดสิ่งที่ทำอยู่ และมาร่วมพัฒนาประเทศไทยไปด้วยกัน

"ถ้าเราทำได้การพลิกโฉมประเทศไทยเป็นเรื่องที่ไม่ยาก และปีหน้าเศรษฐกิจไทยผมก็เชื่อว่า จะดีขึ้นขนาด 5-6% ถ้าไม่มีเรื่องของการระบาด ผมก็คิดว่ามีโอกาส สำคัญเราต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ถ้าสามารถทำได้ รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ รักษาเสถียรภาพความมั่นคง และนำพาประเทศฟื้นตัว เราจะเข้มแข็งมากกว่าเดิม ภายใต้บริบทใหม่เราพร้อมแล้ว"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ