นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานเสวนา "เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ" ว่า ในวันที่ 5 พ.ย.2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีการประชุม โดยเตรียมเสนอลดการจัดเก็บเงินน้ำมันเข้ากองทุนเพื่อส่งแสริมการอนุรักษ์พลังงาน ลงเหลือลิตรละ 5 สตางค์ จากเดิมลิตรละ 10 สตางค์ เพื่อบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท
โดยยืนยันว่าการขอลดการจัดเก็บเงินดังกล่าว จะไม่กระทบกับสภาพคล่องสำหรับการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน โดยแต่ละปีคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะสนับสนุนโครงการด้านการเพื่อการอนุรักษ์พลังงานประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 กระทรวงพลังงานได้ปรับสัดส่วนน้ำมันกลุ่มดีเซล ใหม่ ส่งให้ส่วนต่างราคาน้ำมันกลุ่มดีเซลลดลง โดยมีราคาห่างกันเพียง 15-25 สตางค์/ลิตร แบ่งเป็นราคาดีเซล ถูกกว่า ดีเซล B7 เพียง 15 สตางค์/ลิตร จากเดิมราคาต่างกันถึง 3 บาท/ลิตร และดีเซลB20 ถูกกว่าดีเซล B7 เพียง 25 สตางค์/ลิตร จากเดิมราคาต่างกันถึง 3.25 บาท/ลิตร (ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 3 พ.ย. ดีเซลราคา 29.54 บาท/ลิตร,ดีเซลB7 ราคา 29.69 บาท/ลิตร และดีเซลB20 ราคา 29.44 บาท/ลิตร)
ขณะที่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เหลือเงินสุทธิ 7,144 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้ 3,000 ล้านบาท/เดือนตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ตร ได้จนถึง ธ.ค.64 นี้ แต่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้อนุมัติให้ดำเนินการกู้เงิน 20,000 ล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในการตรึงราคาดีเซลแล้ว ดังนั้นคาดว่าจะยืดเวลาตรึงราคาได้จนถึง เม.ย.565 ด้วยเงื่อนไขราคาน้ำมันดิบตลาดโลกไม่เกิน 90 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยจะพิจารณากู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศเป็นหลัก คาดว่าเงินกู้จะเข้ากองทุนน้ำมันได้ประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ.65
นายกุลิศ กล่าวด้วยว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงปัจจุบันอยู่ที่ 32 บาท/ลิตรและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นไปถึง 34 บาท/ลิตรได้ แต่กระทรวงพลังงานยังคงตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร
ส่วนกรณีที่กลุ่มรถบรรทุกเรียกร้องให้ปรับลดราคาดีเซลเหลือ 25 บาทต่อลิตรนั้น จากการศึกษาพบว่าหากต้องปรับลดราคาดีเซลลงถึง 9 บาท/ลิตร จะต้องใช้เงินกองทุนฯอุดหนุนราคาถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ยอมรับว่าเงินกองทุนฯไม่สามารถแบกรับภาระขนาดนั้นได้ ดังนั้นจึงเลือกดูแลภาพรวมประเทศเป็นหลัก ซึ่งไทยใช้แนวทางนี้มา 15 ปีแล้ว
พร้อมกันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษ ที่มีตัวแทนจากกรมธุรกิจพลังงาน, กรมการค้าภายในและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ราคาไบโอดีเซลอย่างใกล้ชิด เพื่อการปรับเปลี่ยนส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ในส่วนของการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม(LPG)นั้น ยืนยันว่าภาครัฐยังตรึงราคา LPG ไว้ที่ 318 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัมต่อไปจนถึงม.ค. 65 แม้ปัจจุบันราคา LPG จะขึ้นไปถึง 390-400 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัมก็ตาม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้นำเงินจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทของกระทรวงการคลังมาดูแลราคา LPG ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ เหลือเงินสำหรับดูแลราคาน้ำมันในประเทศโดยตรงแทน
พร้อมกันนี้ภาครัฐยังมีการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้มากขึ้น โดยจะมีการออกแพ็กเกจสนับสนุนผู้ประกอบการรถ EV และช่วยเหลือผู้ผลิตรถสันดาป รวมทั้งจะมีการโปรโมทการสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทย รวมถึงการเพิ่มจุดชาร์จรถ EV จากที่มีอยู่ 2,000 แห่ง เป็น 12,000 แห่ง ในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ นอกจากนี้จะมีการเปลี่ยนเฟรทรองรับการชาร์จไฟที่บ้าน และคอนโดควบคู่กันไป โดยคาดว่ามาตรการนี้จะออกมาไม่เกินเดือน ธ.ค. นี้