นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาในพิธีมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร (Prime Minister?s Insurance Awards) ประจำปี 2564 ว่า ธุรกิจประกันภัยถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงและช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคง รวมถึงมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ
ที่ผ่านมาภาครัฐมีนโยบายมุ่งเน้นการนำประกันภัยเข้ามาช่วยบรรเทาความทุกข์ยากและสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกษตรกร ผ่านการประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้อย่างเป็นระบบ มีการเยียวยาค่าเสียหายให้กับเกษตรกรอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ทำให้เกษตรกรสามารถฟื้นตัวกับมาประกอบอาชีพเพื่อดำรงชีวิตต่อไปได้หลังจากประสบภัยธรรมชาติ โดยหวังว่าในอนาคตจะมีการขยายผลไปสู่การประกันภัยพืชผลอื่น และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการรับประกันภัยมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้การประกันภัยเข้าถึงประชาชนกลุ่มอื่นเป็นสำคัญ ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงในการใช้ชีวิตและทรัพย์สิน ให้คนมีหลักประกันให้กับชีวิตและครอบครัว
"การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งมาตรการด้านการคลัง มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านภาษี เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบาง และผู้ประกอบการ แต่ก็เป็นเพียงการลดผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น การพัฒนาให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมีความเข้มแข็ง และลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน คือ โจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน" นายอาคม กล่าว
การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ผลักดันให้มีการพัฒนากฎหมายแม่บทด้านการประกันภัยสุขภาพ เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยสุขภาพ เป็นกฎหมายเฉพาะที่ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยสุขภาพมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองความต้องการและรองรับลักษณะการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน และมุ่งหมายให้ประชาชนที่สมัครใจเข้าสู่ระบบการประกันภัยสุขภาพภาคเอกชน (Private Health Insurance) สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันสุขภาพมากขึ้น และยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันสุขภาพอย่างครอบคลุมและยั่งยืน
โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการประกันภัยสุขภาพ รวมทั้ง การปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐาน เพื่อให้เนื้อหาในกรมธรรม์ของสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพมีความทันสมัย อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึง และสามารถใช้ประโยชน์จากการทำประกันสุขภาพในการบริหารความเสี่ยงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ จะช่วยยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ช่วยลดภาระภาครัฐ