นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังหารือกับ นาย Alex Kuprecht ประธานวุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิสว่า ประเด็นสำคัญที่เห็นตรงกัน คือ ต้องการผลักดันความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) หรือ เอฟตา ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ตั้งเป้าหมายว่าจะเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ให้จบในประเด็นสำคัญภายในสิ้นปีนี้ และไตรมาสแรกของปีหน้าจะเริ่มการเจรจาในแต่ละหัวข้อที่จะบรรจุใน FTA ของไทยกับเอฟตาต่อไป และตั้งเป้าจะเจรจาให้จบเร็วที่สุด เพราะหากมี FTA ไทยกับเอฟตา จะเป็นประโยชน์กับการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และทำให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันสวิตเซอร์แลนด์เป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญลำดับที่ 13 ของไทย ในปี 2563 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ แต่เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทำให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ (-42%) แต่เชื่อมั่นว่าหาก FTA ไทยเอฟตาเกิดขึ้นได้ มูลค่าการค้าระหว่างกันจะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก ซึ่งไทยมีสินค้าที่จำเป็นและสามารถทำตลาดในกลุ่มประเทศเอฟตา รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ได้ เช่น ข้าวพรีเมียม ข้าวคุณภาพสูง รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปอาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป และสินค้าที่เกี่ยวกับการบริการทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือแพทย์ สินค้าเพื่อสุขภาพ ที่ไทยสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเอฟตาได้
ปัจจุบันไทยมี FTA แล้ว 13 ฉบับ และกำลังจะมีฉบับที่ 14 เกิดขึ้น คือ RCEP ซึ่งไทยได้ยื่นให้สัตยาบันต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแล้ว และกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ต้องให้สัตยาบันอย่างน้อย 6 ประเทศ ซึ่งครบแล้ว และนอกกลุ่มอาเซียนมี 5 ประเทศให้สัตยาบันแล้ว 4 ประเทศ เป้าหมาย RCEP คือ ต้นปีหน้าจะสามารถบังคับใช้ได้ ซึ่งจะกลายเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย และหาก FTA ไทย-เอฟตา ประสบความสำเร็จจะเป็นฉบับที่ 15 ต่อไป