นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้ขอความร่วมมือผู้ค้าปลีกรายใหญ่หยุดพฤติกรรมต้องห้ามที่ขัดต่อ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ไม่ว่าจะเป็น การจัดรายการพิเศษซื้อ 1 แถม 1 การลดราคาสินค้าตลอดทั้งปี การรับประกันราคาสินค้าต่ำแน่นอน ซึ่งหากยังฝ่าฝืนจะมีความผิดทางกฎหมาย
วันนี้กรมการค้าภายในได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ(เวิร์คชอป) ร่วมกับผู้ประกอบการห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ร้านค้าปลีกค้าส่งรายย่อย ผู้ผลิตสินค้า(ซัพพลายเออร์) และผู้จำหน่าย ประมาณ 100 ราย เพื่อชี้แจงแนวปฏิบัติทางการค้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย (ไกด์ไลน์) ภายใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542
ส่วนพฤติกรรมขายต่ำกว่าทุนที่ทำได้คือ การขายสินค้าเน่าเสียง่ายในช่วงเย็นก่อนปิดห้าง, สินค้าชำรุดหรือบกพร่อง, การลดราคาล้างสต๊อกหรือเลิกกิจการ อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาการขายสินค้าต่ำกว่าทุนและกรณีอื่นๆ ที่ห้างค้าปลีกเอาเปรียบ เช่น กดราคารับซื้อ กรมการค้าภายในจะยกร่างสัญญาตัวอย่างหรือสัญญามาตรฐาน โดยเชิญห้างค้าปลีกรายใหญ่และซัพพลายเออร์มาหารือร่วมกัน เริ่มนำร่องจากสินค้าที่ได้รับการร้องเรียนมาก 3 รายการ คือ ข้าวสารบรรจุถุง, น้ำมันพืช และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งจะทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน จากนั้นจะขยายไปยังสินค้าอื่นต่อไป
ทั้งนี้ ในสัญญาดังกล่าวจะกำหนดชัดเจนว่าจะใช้เกณฑ์ใดคำนวณราคาต้นทุน ซึ่งเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า จะใช้ราคาในใบสั่งซื้อสินค้าหักด้วยส่วนลดทางการค้า ส่วนการขายสินค้าที่เรียกว่าขายต่ำกว่าทุน คือ ราคาสินค้าบวกค่าใช้จ่ายในการบริหาร 2-6% หากต่ำกว่านี้ถือว่าขายต่ำกว่าราคาต้นทุน รวมถึงกำหนดระยะเวลาการจ่ายเงินค่าสินค้าให้ชัดเจน เช่น 30 วัน ไม่ใช่ 60 วัน 90 วัน การเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าแรกเข้าต้องชัดเจนขึ้น เพราะได้รับแจ้งว่าผู้ผลิตบางรายถูกเรียกเก็บค่าแรกเข้าสูงถึง 1 ล้านบาทต่อ 1 รายการสินค้า
"พฤติกรรมขายสินค้าต่ำกว่าทุนที่ทำไม่ได้นั้น กรมจะขอความร่วมมือให้ห้างหยุดพฤติกรรมดังกล่าว หากได้รับการร้องเรียน หรือกรมพบว่า ห้างค้าปลีกรายใดยังดำเนินการอยู่จะดำเนินการตามกฎหมาย เพราะเป็นพฤติกรรมที่ชั่วร้าย จ้องทำลายคู่แข่ง และทำให้ซัพพลายเออร์ได้รับความเสียหายทางธุรกิจ ซึ่งการขายต่ำกว่าทุนในระยะยาวประชาชนไม่ได้ประโยชน์ เพราะเมื่อคู่แข่งตายหมดแล้ว ห้างค้าปลีกก็จะขายราคาสูงขึ้น" นายยรรยง กล่าว
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า หาก 5-6 ปีก่อน ซัพพลายเออร์กล้าให้ความจริงว่าห้างค้าปลีกเอาสินค้าตนเองไปขายต่ำกว่าทุน และปกป้องสิทธิ์ของตนเอง ปัญหาขายต่ำกว่าทุนจะไม่รุนแรงเหมือนในปัจจุบัน และหากห้างค้าปลีกอยากให้ประชาชนซื้อของถูกก็ควรจะสร้างแบรนด์สินค้าของตนเอง ไม่ควรเอาแบรนด์ของคนอื่นมาขายกดราคาอย่างนี้
วันนี้มีห้างค้าปลีกรายใหญ่มาร่วมประชุมเพียงแมคโคร เซ็นทรัล และเซเว่น อีเลฟเว่น ส่วนเทสโก้โลตัส บิ๊กซี และคาร์ฟูร์ ไม่มาร่วมประชุม โดยโลตัสและบิ๊กซีไม่ได้ให้เหตุผลในการไม่มาประชุม แต่คาร์ฟูร์แจ้งว่าติดประชุมที่อื่นและได้รับการแจ้งกะทันหัน แต่ยืนยันว่า พร้อมที่จะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการปฏิบัติตามไกด์ไลน์ค้าปลีก
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/ธนวัฏ/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--