สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน ต.ค.64 อยู่ที่ระดับ 101.96 เพิ่มขึ้น 2.38% จากช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.64) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.99%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ต.ค.64 อยู่ที่ 100.59 เพิ่มขึ้น 0.21% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.23%
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ต.ค.64 เป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก ประกอบกับสินค้าในกลุ่มอาหารสดบางชนิด โดยเฉพาะผักสดได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ และไข่ไก่ราคายังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลง นอกจากนี้ อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดอื่น ๆ ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด สำหรับสินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณผลผลิต ยกเว้น สินค้ากลุ่มอาหารสดราคาค่อนข้างผันผวนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
นายรณรงค์ กล่าวว่า เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนนี้ ปัจจัยสำคัญนอกจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์โลกแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ด้านอุปสงค์สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า และมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น 10.0% และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.4 จากระดับ 42.1 ในเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะยังไม่อยู่ในระดับความเชื่อมั่น แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นในทุกภาคและทุกอาชีพ สำหรับด้านอุปทานสะท้อนได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่สูงขึ้น 6.9%
อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรที่ราคาปรับลดลง และได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ได้ส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับตัวลดลงในรอบ 15 เดือน ซึ่งอาจจะกระทบอุปสงค์ภายในประเทศและเงินเฟ้อของไทยได้ในระยะต่อไป เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลอย่างใกล้ชิด
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพ.ย.64 มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจาก
1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ในหลายพื้นที่จากการกระจายวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ
2) น้ำมันเชื้อเพลิง ราคายังมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และบริการ รวมถึงการขนส่ง
3) อุทกภัยในหลายพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดน้อยลง และส่งผลต่อระดับราคาต่อไป สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางปกติตามปริมาณผลผลิตและความต้องการ
อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดอาหารสดส่วนใหญ่ โดยเฉพาะข้าว เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซึ่งจะต้องเฝ้าระวังและส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 64 จะอยู่ระหว่าง 0.8 - 1.2% (ค่ากลางอยู่ที่ 1.0%) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง