แบงก์พาณิชย์คาดคงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี แนวโน้มปรับขึ้นในครึ่งหลังปี 51

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 28, 2007 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายจงรัก บุญชยานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารเงิน ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยในระยะนี้จนถึงสิ้นปีน่าจะยังคงทรงตัว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้จึงถือว่าเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังชะลอตัว  ขณะเดียวกันสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงมีเหลือพอสมควร โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ 
หากจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นบ้างก็น่าจะเป็นการเสนอโปรแกรมเงินฝากรูปแบบใหม่ ๆ มากกว่า เพื่อจูงใจและรักษาฐานลูกค้า
ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า คาดการณ์ว่าจะยังคงทรงตัวต่อไปจนถึงไตรมาสที่ 3/51 เนื่องจากเศรษฐกิจอาจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้จะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลที่แท้จริง เพราะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากจากปัญหาต่างๆ ประกอบกับมีปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ จึงมองว่าคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีได้เช่นเดิม
“การพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะต้องคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัยด้วย ทั้งผู้ฝากเงินและผู้กู้เงิน สภาพคล่องของธนาคารเอง และภาวะเศรษฐกิจ" ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารเงิน กล่าว
ด้านนายตรรก บุนนาค ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ว่า จนถึงสิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงทรงตัว เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามการส่งสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ ธปท.เองก็หยุดลดอัตราดอกเบี้ยและมีแนวโน้มที่จะทรงตัวจนถึงสิ้นปี
“เมื่อแบงก์ชาติหยุดลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่เฟดเองก็ส่งสัญญาณว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน เราจึงมองว่าจนถึงสิ้นปีนี้ดอกเบี้ยจะไม่น่าลงอีก" ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสฯ กล่าว
นายตรรก กล่าวอีกว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปีหน้ายังไม่เห็นชัดเจนนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างทั้งภายในและภายนอก นั่นคือปัญหาซับไพร์มและราคาน้ำมันที่มีความผันผวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง ยังต้องรอดูผลว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะเป็นอย่างไร รวมถึงนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในการตัดสินใจลงทุน และมีผลต่อเนื่องถึงความต้องการสินเชื่อของธนาคาร
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังทรงตัวไปจนถึงกลางปีหน้า หลังจากนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะค่อยๆ ปรับขึ้น ส่วนจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสภาพคล่องและความต้องการสินเชื่อในระบบ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น
เพราะหากสภาพคล่องลดลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ทั้งความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุน หรือผลการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องของ ธปท. ธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นเพื่อระดมเงินฝาก โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีสภาพคล่องไม่มากเท่าธนาคารขนาดใหญ่
สำหรับช่วงนี้ที่มีธนาคารหลายแห่งออกมาระดมเงินฝากระยะสั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นการทำเพื่อให้ประชาชนเกิดความคุ้นเคย เนื่องจากต่อไปจะมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองเงินฝากออกมา ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการฝากเงินมากขึ้น ประชาชนจึงควรมีความเข้าใจความเสี่ยงและผลตอบแทนของแต่ละทางเลือกที่ธนาคารพาณิชย์เสนอ
สอดคล้องกับด้านนายระเทียร ศรีมงคล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการเงิน ธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ที่คาดว่า จนถึงสิ้นปีนี้ธนาคารพาณิชย์ไม่น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงอีก เนื่องจากขณะนี้มีการแข่งขันด้านเงินฝากมากขึ้น ส่งผลให้ธนาคารหลายแห่งแข่งขันกันออกเงินฝากระยะสั้นที่ให้อัตราดอกเบี้ยดีเพื่อรักษาสภาพคล่องของธนาคารที่ขณะนี้กำลังถูกทางการดูดออกไปจากการออกพันธบัตร ขณะเดียวกันธปท.ก็หยุดลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงไม่น่าจะลดดอกเบี้ยอีกตามการส่งสัญญาณของธปท.
“ลดดอกเบี้ยอีกคงไม่น่าเกิดขึ้นอย่างน้อยก็จนถึงสิ้นปีนี้ เพราะแบงก์กำลังแข่งขันกันแย่งเงินฝาก ประกอบกับการประชุมของแบงก์ชาติครั้งต่อมาก็ไม่ลด ขณะที่สหรัฐกลับลดดอกเบี้ย ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณที่สับสนพอสมควร เราจึงไม่ควรลด" นายระเทียร กล่าว
ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นขาขึ้นเมื่อไหร่นั้น ยังเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก คงต้องรอดูผลการเลือกตั้งก่อน เพราะหากหลังการเลือกตั้งเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวเช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มและราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยในประเทศก็อาจยังไม่ปรับขึ้น
นายระเทียร กล่าวว่า มีความเป็นไปได้เช่นกันที่อัตราดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นขาขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น มีการลงทุนและการบริโภค ซึ่งก่อให้เกิดความต้องการสินเชื่อตามมา
อนึ่ง การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันนี้ 4 ธ.ค.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ