นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมกุ้งตะวันออกไทย ได้แสดงข้อกังวลว่าการนำเข้ากุ้งจะกระทบต่อการผลิต และทำให้ราคากุ้งในประเทศตกต่ำ ไม่มีเสถียรภาพ มีความเสี่ยงเรื่องโรคที่ติดมากับกุ้ง รวมถึงปัญหาคุณภาพความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้าม และยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศไทย และภาพลักษณ์ของกุ้งไทย พร้อมเสนอให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการควบคุมการนำเข้ากุ้งที่เข้มงวด และรัดกุม
กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่มีภารกิจเกี่ยวกับการค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้มีการติดตามสถานการณ์นำเข้า ส่งออก การผลิต และการบริโภคสินค้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อพิจารณาแนวทางรักษาเสถียรภาพของราคา และปริมาณให้เหมาะสม สอดคล้องกับตลาด และความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับปัจจุบันกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการออกกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลการนำเข้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำให้มีคุณภาพมาตรฐาน สอดคล้องกฎระเบียบสากล รวมถึงป้องกันสุขอนามัยสัตว์เพื่อไม่ให้เกิดโรคระบาดกระทบต่อสัตว์น้ำภายในประเทศ
สำหรับสถานการณ์นำเข้าสินค้ากุ้งในปี 64 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยนำเข้ากุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง ปริมาณ 35,344 ตัน มูลค่า 5,601.70 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 116% และ 132% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่านำเข้า 3 อันดับแรกนำเข้าจากเอกวาดอร์ (สัดส่วน 40%) อาร์เจนตินา (สัดส่วน 30%) และออสเตรเลีย (สัดส่วน 7%) ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกมีปริมาณ 57,375 ตัน มูลค่า 14,987 ล้านบาท ปริมาณลดลง 3% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าส่งออก 3 อันดับแรกส่งออกไปสหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 28%) จีน (สัดส่วน 21%) และญี่ปุ่น (สัดส่วน 18%) ตามลำดับ
นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพร้อมรับฟัง และพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และปกป้องผลประโยชน์การค้าของประเทศ อย่างไรก็ดี การออกมาตรการควบคุมการนำเข้าส่งออกสินค้าใด จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน และคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็น ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้า หรือเพิ่มภาระของประชาชน ซึ่งจะต้องหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและ ข้อเสนอแนะก่อนดำเนินการมาตรการใดๆ