นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค.64 อยู่ที่ระดับ 82.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 79.0 ในเดือน ก.ย.64 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค ขณะที่องค์ประกอบของดัชนีฯ เพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ
สำหรับปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่มีทิศทางดีขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง ขณะที่จำนวนผู้ได้รับวัคซีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินค้าคงทน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ เครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น รวมถึงสินค้าไม่คงทนประเภทอาหารและยา นอกจากนี้เริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าแฟชั่น ส่งผลให้ดัชนีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการภาครัฐยังช่วยพยุงกำลังซื้อในประเทศ
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 95.0 จากระดับ 93.0 ในเดือน ก.ย.64 โดยผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งนโยบายเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.64, การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ สามารถเดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว (ตามเงี่อนไข) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ในเดือน ต.ค.นี้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่
1.เร่งรัดการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนตามเกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยเฉพาะจังหวัดที่เปิดรับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2.ภาครัฐควรมีแผนรองรับการเปิดประเทศ และมาตรการด้านสาธารณสุขที่ชัดเจน เพื่อให้การเปิดประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนรับทราบเพื่อสร้างความเข้าใจ
3.เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้มาตรการควบคุมโรค เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ
4.ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อสถานการณ์ราคาน้ำมัน, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่คลายกังวลลดลงต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19, ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ, ภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยน
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การเร่งกระจายฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนช่วยให้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลง และจำนวนผู้เสียชีวิตที่ต่ำกว่าวันละ 100 รายต่อเนื่องกันมา 20 วันแล้ว ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่าเรามีมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มแข็งสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยหวังว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.64 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่เดือนละ 1-2 แสนคน และหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพงได้
"สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง หวังว่าภาวะเศรษฐกิจในปีนี้จะโงหัวขึ้น กลับมาเป็นบวกได้" นายสุพันธุ์ กล่าว
ส่วนปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายนั้น อยากให้มีการเซ็น MOU กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวผู้ประกอบการมีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวราว 5 แสนคน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นก็จะมีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง
ส่วนปัญหาราคาน้ำมันแพงนั้นส่งผลกระทบต่อต้นทุน เช่น ราคาวัตถุดิบ ราคาค่าขนส่ง ทำให้มีโอกาสสูงที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้า นอกจากอยากให้รัฐบาลตรึงค่าเอฟทีไปอีกสักระยะ เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการและประชาชน