รมว.พลังงาน แจงวุฒิสภาแนวทางแก้ปัญหาน้ำมันแพง ยันไม่ยกเลิกไบโอดีเซล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 8, 2021 12:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ช่วงกระทู้ถามถึงปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซหุงต้มมีราคาแพง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งตั้งถามโดยพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา ว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น มาจาก 2 ปัจจัย คือ ราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ทั้งนี้ยอมรับว่าราคาน้ำมันดีเซลกระทบต่อประชาชนมาก จากราคา 25 บาทต่อลิตร จนปัจจุบันทะลุ 30 บาทต่อลิตร ขณะที่ก๊าซหุงต้มราคาจาก 500 เหรียญต่อตัน เป็น 800 เหรียญต่อตัน

สำหรับการแก้ปัญหานั้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติตั้งแต่เดือนตุลาคม เพื่อรักษาระดับให้น้ำมันดีเซลราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาท ส่วนที่เกินจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเข้าไปดูแล นอกจากนั้นได้ขอความร่วมมือให้ผู้ขายลดค่าการตลาดลง แม้ว่าการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันจะเป็นไปตามกลไกตลาดเสรีก็ตาม

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น หากไม่เพียงพอจะจัดหาแหล่งทุนจากแหล่งที่มาอื่นๆ ได้ และตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดระยะเวลาให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวและลดต้นทุน ซึ่งการชดเชยกองทุนมีระยะเวลาไม่เกินปี 2565 และสามารถต่อได้ 2 ครั้งๆ ละ 2 ปี ดังนั้นจะสิ้นสุดในปี 2569

ส่วนข้อเสนอต่อการลดราคาน้ำมันผสมชีวภาพนั้น ข้อเท็จจริงพบว่า การผสมน้ำมันมีต้นทุนสูง เพราะเหตุผลจากการขาดแคลน ผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีภาวะโควิดระบาด ทำให้ขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้น้ำมันราคาสูง อย่างไรก็ดีมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการจะช่วยพยุงราคาและดูแลประชาชน รวมถึงประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เป็นรอยต่อสำคัญ ของการเปิดประเทศให้พ้นวิกฤตให้ได้

"ช่วงนี้ราคาสูง คำถามว่าแนวโน้มจะลดปริมาณสัดส่วนผสม หรือยกเลิกการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่ ทั้งนี้การผสมดังกล่าว เป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดฝุ่นละออง ช่วยรักษาเสถียรภาพพืชผลเกษตร ให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง รวมถึงลดการพึ่งพานำเข้า น้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ดังนั้นหากลดปริมาณสัดส่วนผสมอาจกระทบเศรษฐกิจต้องสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ แต่หากคงไว้จะสร้างเศรษฐกิจ มีเงินหมุนเวียนในประเทศ ดังนั้นการยกเลิกเวลานี้ไม่เป็นประโยชน์ ไม่สอดคล้องนโยบายรัฐ และหลายพรรค หลายกรรมาธิการที่มีจุดยืนสนับสนุน แต่การลดสัดส่วนอาจพิจารณาตามความจำเป็นในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยขณะนี้ กบง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น ศึกษาผลกระทบ" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

สำหรับก๊าซหุงต้ม ยอมรับว่าเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่หน่วยงานของรัฐบาลได้ประสานและตรึงราคา รวมถึงช่วยประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในการช่วยลดค่าก๊าซหุงต้ม ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวจะใช้เงินราว 4,200 ล้านบาทต่อเดือน

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่พบการบิดเบือนข้อเท็จจริง กระทรวงพลังงาน จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายครบถ้วน นอกจากนั้นจะปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ