นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวภายหลังลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนเงินทุนสำหรับเอสเอ็มอีภายใต้ "โครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน" ระหว่างธนาคารออมสิน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า โครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสมาชิกของหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
ประกอบด้วย สินเชื่อ GSB Smooth BIZ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก ที่ 2.99% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท และสินเชื่อเอสเอ็มอี มีที่มีเงิน สำหรับธุรกิจ Small SMEs เฟส 3 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ หรือนำไปไถ่ถอนสัญญาขายฝาก ให้กู้โดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 70% ของราคาประเมินราชการ ไม่ตรวจเครดิตบูโร อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.99% ตลอดสัญญา ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 7 ปี โดยปลอดชำระเงินต้น 2 ปี
นอกจากนี้ สมาชิกหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังสามารถเลือกใช้บริการสินเชื่ออื่นตามมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ตามความประสงค์ อาทิ สินเชื่อซอฟท์โลน สำหรับเอสเอ็มอีท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง หรือสินเชื่อซอฟท์โลน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น
"โครงการสินเชื่อเอสเอ็มอี มีที่มีเงิน ในระยะที่ 1 และ 2 มีผู้ประกอบการมายื่นของสินเชื่อหมดอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยรายละ 4-5 ล้านบาท ส่วนโครงการสำหรับธุรกิจ Small SMEs ซึ่งเป็นเฟส 3 มีการตั้งวงเงินไว้ 1 หมื่นล้านบาท หากเต็มวงเงินก็สามารถขยายวงเงินเพิ่มได้อีก เรื่องนี้ ธปท. ได้ขอให้ออมสินดำเนินการ เพราะว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงระหว่างเปิดประเทศ อีกทั้งได้มีการปรับเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการมากขึ้น อาทิ วงเงินปล่อยกู้สำหรับบุคคลธรรมดา เริ่มตั้งแต่ 3 แสนบาท - 10 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคล เริ่มตั้งแต่ 3 แสนบาท - 50 ล้านบาท รวมทั้งมีการผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อภายในให้มีความคล่องตัวมากขึ้นด้วย เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจภายหลังการเปิดประเทศ ซึ่งหลักเกณฑ์ผ่อนปรนเหล่านี้ ในภาวะปกติธนาคารไม่สามารถดำเนินการได้" นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย ยังคาดว่าสิ้นปี 2564 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคารออมสินจะอยู่ในระดับ 2% ต้น ๆ เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่กระทบกับฐานะของธนาคาร เนื่องจากมีการตั้งสำรองส่วนเกินในสิ้นปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านบาท จากที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 5 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7 เท่า ขณะที่อัตรากำไรในปีนี้คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน มาจากการลดต้นทุนค่าบริการจัดการต่าง ๆ ซึ่งทำให้ธนาคารมีรายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะภายหลังรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งโครงการสินเชื่อของธนาคารออมสินตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการเสนอรัฐบาลพิจารณาผ่อนปรนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่นำเกณฑ์การตรวจเครดิตบูโรเข้ามาประกอบในการพิจารณาให้สินเชื่อ ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทันเวลา
"โครงการสินเชื่อหลายโครงการก่อนหน้านี้ของรัฐบาล ยังไม่ตรงประเด็น ไม่ตรงเป้าหมาย และไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ เช่น โครงการพักทรัพย์พักหนี้ โครงการสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และ ธปท. รวมถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เพื่อหาทางแก้ไขเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยจะมีการเสนอให้รัฐบาลผ่อนปรนเกณฑ์ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น" นายสนั่น กล่าว
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าภายหลังการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลจะไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกอย่างแน่นอน เนื่องจากการเร่งกระจายวัคซีนที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปัจจุบันมีประชาชนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 1 แล้วน่าจะเกิน 100% ขณะที่เข็ม 2 คาดว่าจะทยอยฉีด และภายในปลายปี 2564 จะมียอดฉีดเกิน 70% ของประชากรทั้งหมด