นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการวิเคราะห์ความสามารถในการส่งออกของไทยรายสินค้า เพื่อสนับสนุนนโยบายเร่งรัดผลักดันการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสสูง จากความต้องการในตลาดโลก ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ โดยวิเคราะห์ผ่านดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Reveal Comparative Advantage Index - RCA) ร่วมกับอัตราการขยายตัวของการส่งออกของโลกและของไทย
ทั้งนี้ พบว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความสามารถในการส่งออกของสินค้าไทยในตลาดโลก ได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันระหว่างประเทศที่รุนแรงทำให้การค้าชะลอตัว อย่างไรก็ดี ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่หลังโควิด-19 เริ่มเห็นโอกาสในบางสินค้าของไทยที่เติบโตมากขึ้น เข้ามาทดแทนสินค้าเดิมที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง
สำหรับสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการส่งออก และเติบโตตามความต้องการของโลก เช่น เครื่องจักรและส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารปรุงแต่ง เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ อาหารสัตว์ ของปรุงแต่งจากธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เป็นต้น
นอกจากนี้ สนค. ได้วิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตเทียบกับตลาดโลก เพื่อเสนอแนะกลยุทธ์ต่อการส่งออกในสินค้า 4 กลุ่ม ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ทางการค้าที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. กลุ่มเติบโต (โลกขยายตัว และไทยขยายตัว) ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีเครื่องประดับและทองคำ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ อาหารปรุงแต่ง ผักและผลไม้ปรุงแต่ง เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นกลุ่มที่ไทยควรยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งไทยได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบ ทักษะแรงงาน และตลาดขยายตัวดี
2. กลุ่มสวนกระแส (โลกหดตัว แต่ไทยขยายตัว) ได้แก่ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ นาฬิกา ผ้าถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ ปุ๋ย ดีบุกและของที่ทำด้วยดีบุก รถไฟหรือรถรางและส่วนประกอบ เยื่อไม้ ยาสูบ เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นสินค้าที่เติบโตท่ามกลางความเสี่ยง การขยายตัวของไทยในสินค้ากลุ่มนี้อาจจะไม่ยั่งยืน เนื่องจากทิศทางความต้องการในตลาดโลกชะลอลง
3. กลุ่มเสียโอกาส (โลกขยายตัว แต่ไทยหดตัว) ได้แก่ ธัญพืช เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก น้ำตาล ผักและผลไม้ปรุงแต่ง ปลาและสัตว์น้ำ พืชผักที่บริโภคได้ เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นสินค้ากลุ่มท้าทาย ที่ไทยควรจะปรับกลยุทธ์เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขัน ผลักดันเข้าสู่ตลาดที่มีโอกาสเติบโต
4. กลุ่มเฝ้าระวัง (โลกหดตัว และไทยหดตัว) ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องแต่งกายถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เส้นใยสั้นประดิษฐ์ เกลือ รองเท้า หนังดิบ (นอกจากหนังเฟอร์) และหนังฟอก เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นกลุ่มที่การค้าในตลาดโลกชะลอลงกว่าในอดีต จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลกที่สำคัญ เช่น การดิสรัปชั่นของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลก พฤติกรรมการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน กระแสเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น จึงควรติดตามสถานการณ์ และวางแนวทางปรับตัว โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูง เพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ภาคการส่งออก
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวเสริมว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ทำงานอย่างหนักในการผลักดันสินค้าที่มีโอกาสเติบโตสูงในทุกช่องทาง อำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน แก้ไขปัญหาอุปสรรคที่กระทบต่อการส่งออก ทำงานบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผลักดันนโยบายร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับประชาชน
"ความสามารถในการส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา จะพบว่าสินค้าส่วนใหญ่ ยังเติบโตตามกระแสความต้องการของตลาดโลก อยากให้ภาคเอกชนกำหนดนโยบายที่มุ่งเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ เน้นการลงทุนในสินค้าที่สอดคล้องตามเมกะเทรนด์ของโลก จะเป็นแรงเสริมให้การค้าไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต" นายรณรงค์ระบุ
ในขณะเดียวกัน จะเห็นได้ว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 64 สินค้าในกลุ่มเติบโตที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน และมีทิศทางเติบโตสอดคล้องกับความต้องการของโลกขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องจักรและส่วนประกอบ (+18.8%) ยางและผลิตภัณฑ์ยาง (+39.3%) พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก (+33.4%) ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง (+61.7%) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (+30.6%) อาหารปรุงแต่ง (+4.9%) เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ (+2.1%) อาหารสัตว์ (+19.4%) ของปรุงแต่งจากธัญพืช (+3.7%) ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช (+38.0%) เป็นต้น