BOI วางกรอบส่งเสริมผลิตเหล็กขั้นต้นคุณภาพสูงดันไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 13, 2007 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เห็นชอบกำหนดหลักการส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการเหล็กขั้นต้น เพื่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นคุณภาพสูงในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ 
"อุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ภาครัฐจึงต้องสนับสนุนเรื่องสิทธิประโยชน์ และการสนับสนุนในเรื่องของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น พื้นที่ตั้งโครงการ ท่าเรือน้ำลึก และแหล่งน้ำอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า จะต้องอยู่ร่วมกับชุมชนได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม" นายโฆสิตกล่าว
ด้านนายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวถึงหลักการในการส่งเสริมการลงทุนว่า ต้องเป็นโครงการผลิตเหล็กขั้นต้นที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในทุกขั้นตอนการผลิต, มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์, มีเทคโนโลยีและระบบความคุมจัดการมลภาวะต่างๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน รวมถึงมีผลผลิตเหล็กขั้นต้นไม่น้อยกว่า 2 ล้านตัน/ปี เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) และมีต้นทุนการผลิตต่ำ
หากมีการลงทุนผลิตเหล็กขั้นต้นคุณภาพสูงในไทย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี เครื่องจักรกล และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตเหล็กคุณภาพสูงในภูมิภาคอาเซียนได้ เพราะมีข้อได้เปรียบในด้านการขนส่ง ระยะทาง และต้นทุนการผลิต เมื่อเทียบกับผู้ผลิตเหล็กในภูมิภาคเดียวกัน
โดยประเทศในอาเซียนยังต้องนำเข้าเหล็กคุณภาพสูงถึงปีละประมาณ 6.7 ล้านตัน หรือประมาณ 4,982 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนประเทศไทย ปัจจุบันมีความต้องการใช้เหล็กปีละประมาณ 12.5 ล้านตัน
ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตเหล็กคุณภาพสูงในประเทศไทย ทำให้อุตสาหกรรมสำคัญๆ ต้องนำเข้าเหล็กคุณภาพสูงจากญี่ปุ่น และเกาหลี ปีละประมาณ 4.5 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท และคาดว่าความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยจะสูงถึง 25 ล้านตันในอีก 10 ปีข้างหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ