นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง เศรษฐกิจไทยหลังโควิด ภายในงานสัมมนา SEC Capital Market Symposium 2021 ว่า แต่ละประเทศจะถึงโลกหลังโควิดไม่พร้อมกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีน และอัตราการติดเชื้อโควิด-19 อย่าง ประเทศสหรัฐฯ, อเมริกาเหนือ, ยุโรปตะวันตก ฉีดวัคซีนได้เร็ว ขณะที่ไทยเองก็มีการฉีดวัคซีน แต่จากประมาณการของ The Economist มองว่าไทยจะฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากรทั้งหมดได้ในปี 65
อย่างไรก็ตาม หากประเมินทั่วโลกน่าจะสามารถจัดการกับการระบาดของโควิด-19 ได้พร้อมกันได้ราวปี 68 ซึ่งก็คาดหวังว่าไทยจะเข้าสู่โลกหลังโควิดได้เร็วกว่านั้น
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจโลกและไทยในปีนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจในหลายประเทศลง อย่าง สหรัฐ และจีน จากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงอินเดีย ขณะเดียวกันก็มีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ส่วนไทยได้ปรับลดลงจากผลของการระบาดระลอกใหม่ โดยคาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 1% ในปีนี้ และคาดจะฟื้นตัวกลับมาได้ในปี 65 จากฐานที่ต่ำในปีนี้
ทั้งนี้โลกหลังโควิด-19 กับเศรษฐกิจไทยนั้น จะมี 2 สิ่งที่ทิ้งไว้ คือ 1. การเพิ่มความเหลื่อมล้ำ หลังโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจปิดตัวลง ทำให้มีคนส่วนหนึ่งว่างงาน โดยไทยถือว่ามีอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำราว 1% แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดจนถึง ปัจจุบัน ได้ทำให้อัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นเป็น 2% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของอัตราการว่างงานปกติ
2. โควิดยังเพิ่มหนี้ครัวเรือนของไทย ทั้งหนี้เอกชน และภาครัฐ โดยภาครัฐได้มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้เป็น 70% ของ GDP แต่ไม่ได้เป็นกังวลมากนัก เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจฟื้นก็ยังสามารถเก็บภาษีเพิ่มได้ แต่สิ่งที่กังวลคือ หนี้ครัวเรือน ทั้งหนี้ซื้อบ้าน ซื้อรถ หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), หนี้ทำธุรกิจส่วนตัวต่างๆ หากเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนนี้จะเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด
ด้านตลาดทุนไทย ตลอด 2 ปีที่เกิดโควิด-19 (ต.ค.62-ต.ค.64) มองว่าโควิดได้เปลี่ยนหน้าตาของตลาดทุนไทย โดยเฉพาะดัชนีตลาดหุ้นไทย หรือ SET Index แม้จะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม คล้ายกับตลาดหุ้นสิงค์โปร แต่หากเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาคเอเชีย อย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่การเติบโตของตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นตลอด 2 ปี ราว 30-40% ตลาดหุ้นไทยยังมีการเติบโตในระดับต่ำ
ขณะที่เมื่อมองดูการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทย บริษัทที่ควรจะเติบโตได้มากๆ อย่าง เทคโนโลยีสารสนเทศ และ ICT กลับเติบโตได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับบริษัทในต่างประเทศ ที่หุ้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมถึงท่องเที่ยว แม้ไทยมีการทยอยเปิดประเทศ เปิดเมือง แต่มองว่าอาจจะเร็วไปเล็กน้อย 1-2 เดือนกับอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังล้าช้าอยู่ ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยลบ จากประเทศจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก ได้มีมุมมองออกไปอีกด้าน เห็นได้จากการสร้างศูนย์กักตัวในกวางโจว ที่มีเตียง มีห้องพัก และยังกระจายไปในเมืองต่างๆ ซึ่งแปลว่าจีนยังไม่พร้อมเปิดประเทศ และพยายามควบคุมการติดเชื้อให้เป็นศูนย์ แตกต่างจากหลายประเทศที่ยกเลิกนโยบายเหล่านี้ไปแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ เมื่อจีนไม่พร้อมที่จะเปิดประเทศ และปล่อยให้ประชาชนออกมาท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ภาคการท่องเที่ยวก็น่าจะยังต้องใช้เวลาอีก 1 ปี ในการฟื้นตัวกลับมา
อีกทั้งการเดินทาง การบริโภค ก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง หลังภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งจะมีผลต่ออีกหลายสาขา โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของพื้นที่ว่างของสำนักงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากคนมีวิถีชีวิตที่ทำงานจากที่บ้านมากขึ้น
ส่วนบริษัทที่สามารถเติบโตได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ การเกษตร และอุตสาหกรรมการผลิต จากการส่งออกยังไปได้ดี และราคาสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งจากภาพดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจของไทยยังไม่แย่มากนัก เนื่องจากมีการกระจายความเสี่ยงในหลายธุรกิจ ประกอบกับยังมีบริษัทที่เติบโต จากได้รับอานิสงค์จากโควิด และการเข้าสู่โลกหลังโควิด คือ การรักษาพยาบาล, การบริการสุขภาพทางไกล เป็นต้น
"หลังโควิดโลกคงหน้าตาไม่หมือนเดิม เนื่องจากโควิดได้มาเปลี่ยนแปลงโลกไปในหลายด้าน ทั้งเร่งการเปลี่ยนแปลงบางด้านให้เร็วขึ้น การใช้ไอที การใช้ออนไลน์ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เกิดหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ฉะนั้นโครงสร้างเศรษฐกิจคงไม่เหมือนเดิม แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส" นายสมเกียรติ กล่าว